คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย ไสว บุญมา  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3869 (3069)

ในช่วงนี้มีข่าวทุกวันเกี่ยวกับเหตุการณ์จำพวกเลวร้ายจนทำให้ดูเสมือนว่าโลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต ในความเห็นของนักปรัชญา Ervin Laszlo ที่เป็นเช่นนั้นเพราะโลกของเรากำลังสับสนวุ่นวายด้วยปัญหาสารพัด และกำลังเดินเข้าสู่ช่วงที่จะเกิดจุดพลิกผันอันสำคัญยิ่ง เมื่อสิ่งต่างๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้โลกวิวัฒน์มาถึงจุดนี้แตกสลาย ยังผลให้โลกไม่สามารกลับไปสู่สภาพเดิมได้อีก โลกอาจจะล่มสลาย หรืออาจจะวิวัฒน์ต่อไปอย่างราบรื่นก็ได้ เพื่อสนับสนุนความเห็นนั้น เขาเพิ่งเขียนหนังสือเล่มใหม่ออกมาและตั้งชื่อว่า The Chaos Point : The World at the Crossroads หนังสือขนาด 200 หน้าเล่มนี้แบ่งเป็น 8 บทในสองภาค เสริมด้วยคำนำของนักเขียนนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ Sir Arthur C. Clarke บทนำ ปัจฉิมลิขิตและภาคผนวก ซึ่งประกอบด้วยการก่อตั้งสมาคมบูดาเปสต์ (Budapest Club) ข้อคิดเห็นของสมาชิกและเอกสารของสมาคมนั้น

ผู้เขียนอ้างว่าในปัจจุบันโลกมีปัญหาหนักหนาสาหัสซึ่งแสดงอาการออกมาในรูปต่างๆ เช่น

-ความผิดหวังและความไม่พอใจของกลุ่มชนต่างๆ เพิ่มขึ้นเพราะช่องว่างระหว่างผู้มีอำนาจ และโภคทรัพย์ กับผู้ไม่มีทรัพย์นับวันจะยิ่งกว้างขึ้น

-หนึ่งในสามของผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม โดยเฉพาะในประเทศยากจนราว 78% ของผู้ที่อยู่ในเมืองอาศัยอยู่ในสภาพดังกล่าว

-สตรีและเด็กในบางส่วนของโลกยังไม่ได้รับการศึกษา และต้องทำมาหากินด้วยอาชีพเบ็ดเตล็ดที่ขาดความมั่นคง

-ชาวโลกใช้ความรุนแรงและการก่อการร้ายเพื่อแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น

-ความคิดชนิดตกขอบขยายออกไปในวงกว้างขึ้น อิสลามแบบตกขอบขยายออกไปในโลกมุสลิม นาซีใหม่ขยายออกไปในยุโรป และการหลงศาสนาแบบบ้าคลั่ง ขยายออกไปในส่วนอื่นของโลก

-การตอบโต้การก่อการร้ายจากฝ่ายรัฐนำไปสู่สงครามและความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง เอเชีย อเมริกากลางและจุดเดือดอื่นๆ

-ในปี พ.ศ. 2548 การใช้จ่ายเพื่อการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 6 จนเป็นเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 6 เท่า ของรายได้ของคนไทยทั้งประเทศ)

-ประเทศส่วนใหญ่ผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และขาดอาหารเพิ่มขึ้น ในขณะที่อาหารสำรองที่มีอยู่ในโลกลดลง

-การขาดน้ำสะอาดใช้ขยายวงกว้างขวางและร้ายแรงขึ้น วันหนึ่งๆ เด็กราว 6,000 คนตายเพราะขาดน้ำสะอาดใช้

-ระบบนิเวศของโลกขาดสมดุลอย่างร้ายแรงขึ้น

นอกจากอาการเหล่านี้แล้ว ยังมีแนวโน้มทางด้านลบใหญ่ๆ ในสหรัฐ ซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวอยู่ในปัจจุบันด้วย เช่น

-ความยากจนและความหิวโหยกำลังเพิ่มขึ้น

-รัฐบาลให้ความใส่ใจในปัญหาความยากจนและปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยลง

-ทั้งที่มีทรัพย์สินมากขึ้น ชนชั้นเศรษฐีมีความรู้สึกเชื่อมั่นในด้านการเงินของตนน้อยลง

-ชาวอเมริกันมีเสรีภาพน้อยลงอันเนื่องมาจากผลกระทบของมาตรการต่อสู้การก่อการร้ายและอื่นๆ

-จำนวนเงินที่ใช้ไปในด้านการส่งเสริมสื่อที่ดีและเพื่อพัฒนาสถาบันและโครงการให้ความรู้แก่ประชาชนลดลงเรื่อยๆ

ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาและแนวโน้มเหล่านี้มีโอกาสก่อให้เกิดความล่มสลายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก กระบวนการล่มสลาย จะเริ่มขึ้นจากความแตกแยกกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระหว่างประเทศ และในระหว่างกลุ่มชนที่ได้ประโยชน์ และกลุ่มชนที่ไม่ได้ประโยชน์จากกระบวนการโลกาภิวัตน์ ผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์จะรู้สึกผิดหวังมากขึ้น และจะใช้ระบบสารสนเทศยุคใหม่ติดต่อ และร่วมมือกันเพื่อต่อต้านผู้ที่ได้รับประโยชน์ ในภาวะเช่นนี้กลุ่มผู้ก่อการร้าย ผู้ขายอาวุธเถื่อน ผู้ค้ายาเสพย์ติด และกลุ่มเจ้าพ่อทางด้านอาชญากรรมจะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น พวกเขาจะร่วมมือกันและกับนักธุรกิจเลวๆ เพื่อขยายกิจการรวมทั้งการเข้าไปยึดธนาคารและบริษัทห้างร้านที่มีปัญหา ติดสินบนผู้นำ วางระเบิดและร่วมมือกับผู้ก่อการร้าย การตอบโต้ของฝ่ายรัฐบาลด้วยการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหาร จะทำให้มีเงินเหลือน้อยลงสำหรับกิจการทางด้านอื่น ส่งผลให้คนจนได้รับความช่วยเหลือน้อยลงด้วย ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเลวร้ายขึ้น การเกษตรจะได้ผลลดลงนำไปสู่ความอดอยากหิวโหย และความขัดแย้งเพิ่มขึ้นยังผลให้ค่าใช้จ่ายในด้านการทหารเพิ่มขึ้นอีก

ในขณะเดียวกันปัญหาด้านภูมิอากาศของโลกและการขาดแคลนน้ำยิ่งทำให้ผลิตอาหารได้น้อยลงไปอีกด้วย ความยากจนแพร่ขยายออกไปและผลักดันให้คนจนอพยพเข้าเมืองเพิ่มขึ้น รัฐบาลยิ่งถูกกดดัน และหันไปใช้มาตรการทางทหารมากขึ้น เพื่อปราบปรามประชาชนพร้อมๆ กับพยายามกันทรัพยากรไว้ให้พวกตนเอง และเพื่อรักษาขอบเขตของประเทศไว้ ประเทศยากจนจะหันไปใช้รัฐบาลเผด็จการ และรัฐบาลทหารมากขึ้น การต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย จะขยายวงกว้างขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้ง สงครามกลางเมือง และการแพร่ขยายของการก่อการร้ายในวงกว้างขึ้นอีก ในสภาพเช่นนี้จะมีผู้นำเลวๆ เกิดขึ้น พวกเขาเต็มใจที่จะใช้อาวุธร้ายแรงกวาดล้างผู้ที่อยู่ตรงข้าม สิ่งเหล่านี้จะวิวัฒน์ไปในรูปของวงจรอุบาทว์ ที่มีความร้ายแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดความล่มสลายหายนะทั่วโลก

ผู้เขียนเห็นว่านั่นไม่ใช่ชะตากรรมที่ชาวโลกได้ถูกขีดให้เดินโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง ตรงข้ามปัญหาอันหนักสาหัสที่กล่าวถึง อาจผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่นำไปสู่วิวัฒนาการในด้านดีในที่สุดก็ได้ วิวัฒนาการในด้านดีจะเริ่มขึ้น เมื่อบุคคลกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันสร้างเครือข่ายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เกิดกระบวนการ ที่จะนำโลกไปสู่สันติภาพและความยั่งยืน เมื่อนักธุรกิจมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านฐานความคิด และความคาดหวังของลูกค้าก็เริ่มพากันเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ และบริการให้ตรงกับความต้องการใหม่นั้น สื่อและอุตสาหกรรมการบันเทิงค้นหาสิ่งใหม่ๆ มาเสนอก่อให้เกิดมุมมองใหม่ เกี่ยวกับโลกภายนอก และโลกภายใน ซึ่งจะแพร่ขยายออกไปตามระบบอินเทอร์เน็ต โทรทัศน์และเครือข่ายการสื่อสาร ของบริษัทห้างร้าน ชุมชนและคนกลุ่มต่างๆ กระบวนการนี้จะก่อให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนนโยบายในด้านการปรับปรุงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

เงินที่เคยใช้ไปในด้านการทหารถูกนำมาใช้ในด้านสนองความต้องการทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การสร้างระบบต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านการผลิตและการกระจายอาหารและทรัพยากร และด้านการใช้เทคโนโลยีที่ยั่งยืน เกี่ยวกับพลังงาน การขนส่งและการเกษตร ชาวโลกทั้งในระดับบุคคล ในระดับชุมชน ในภาคธุรกิจและในภาครัฐเปลี่ยนแนวคิด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และโยบายไปในทางสร้างเสริมวงจรมงคล จนนำไปสู่การลดการรังเกียจเดียดฉันท์ และการข่มเหงซึ่งกันและกัน กลุ่มชนจะหันหน้าเข้าหากันก่อให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้นๆ จนนำไปสู่ความเสมอภาคกันในด้านต่างๆ จนในที่สุดสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความพลิกผันให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข อย่างยั่งยืน

หน้า 46
——————————————————————————–

The Chaos Point : โลกย่างเข้าสู่ทางสองแพร่ง (2)

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย ไสว บุญมา  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3870 (3070)

หลังจากตั้งประเด็นว่า ณ วันนี้โลกตกอยู่ในระหว่างทางสองแพร่ง และจะวิวัฒน์ไปในทางล่มสลาย หรือทางยั่งยืน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของพวกเราชาวโลก ผู้เขียนเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับฐานของแนวคิด ทฤษฎีและกิจกรรม ที่จะทำให้โลกวิวัฒน์ ไปสู่ความยั่งยืนโดยอ้างข้อคิดของนักฟิสิกส์ชั้นอัจฉริยะ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า “เราจะแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญหน้าเราอยู่ในปัจจุบัน ด้วยระดับแนวคิดที่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านั้นไม่ได้” ฉะนั้นเราต้องการแนวคิดใหม่ เนื่องจากแนวคิดใหม่ต้องเกิดจากความเข้าใจระบบของโลกอย่างถ่องแท้ ผู้เขียนจึงใช้เนื้อที่ในบทต่อๆ ไปอธิบายถึงส่วนประกอบต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจนั้น แล้วต่อด้วยกิจกรรมที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ผู้เขียนเห็นว่าเท่าที่ผ่านมาเรามักมองวิวัฒนาการต่างๆ ไปในแนวเส้นตรง ฉะนั้นการทำนายว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงมักใช้วิธีลากเส้นตรงต่อแนวโน้มต่างๆ ออกไปข้างหน้า แล้วสรุปว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้จะเกิดขึ้น แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ผลของการทำนายส่วนใหญ่จึงผิด เขาเห็นว่าในอนาคตสิ่งต่างๆ จะไม่วิวัฒน์ไปในแนวเส้นตรง ความเห็นนั้นวางอยู่บนฐานของทฤษฎีที่มีชื่อว่า “ทฤษฎีระบบการทำงาน” (systems theory) ซึ่งมีทฤษฎีสาขาที่ชื่อว่า “ทฤษฎีความโกลาหล” (chaos theory) ตามหลักของทฤษฎีความโกลาหล ระบบการทำงานอันแสนสลับซับซ้อน เช่นของโลกวิวัฒน์ไปเป็นตอนๆ สลับกัน ระหว่างตอนมีเสถียรภาพกับตอนขาดเสถียรภาพ ตอนที่มีความต่อเนื่อง กับตอนขาดความต่อเนื่อง และระหว่างตอนที่มีระเบียบกับตอนที่วุ่นวาย ขั้นตอนของการวิวัฒน์อาจแบ่งได้เป็น 4 ช่วง ซึ่งโลกเดินผ่านในกำหนดเวลาดังนี้

ช่วงริเริ่ม (trigger phrase) – เป็นช่วงเวลาที่เกิดเทคโนโลยีใหม่ซึ่งเอื้อให้มนุษย์ควบคุมธรรมชาติ เพื่อสนองความต้องการของตน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนเสนอว่าช่วงเวลานี้คือระหว่างปี ค.ศ.1800-1960 (พ.ศ.2343-2503) ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิถีชีวิตของมนุษย์อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ช่วงสะสม (accumulation phrase) – ระหว่าง ค.ศ.1960-2004 (พ.ศ.2503-2547) อันเป็นช่วงเวลาที่การสะสมนวัตกรรม ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ในความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งคือ การใช้ทรัพยากร จำนวนประชากร ความสลับซับซ้อนของสังคมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ช่วงหน้าต่างการตัดสินใจ (decision-window phrase) – จากปี ค.ศ.2005-2012 (พ.ศ.2548-2555) อันเป็นช่วงเวลาที่ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ สร้างความกดดันอย่างหนักให้กับสังคมมนุษย์จนก่อให้เกิดความสงสัย ในฐานของสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านฐานความคิด การมองโลก จริยธรรม หรือความใฝ่ฝัน สังคมเดินเข้าสู่ช่วงความวุ่นวายและเน่าเฟะ เปิดโอกาสให้กลุ่มชนที่มองเห็นช่องทาง และมีความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเป็นปัจจัยก่อให้เกิดโลกแห่งอนาคต

จุดวิกฤต (chaos point) – ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) จะเป็นปีที่ทุกอย่างสะสมกันจนถึงขั้นไม่มีทางหมุนกลับ โลกจะวิวัฒน์ไปในทางใดทางหนึ่งในสองทาง นั่นคือ ทางสู่ความล่มสลาย (the breakdown path) หรือไม่ก็ทางสู่ความราบรื่นอย่างยั่งยืน (the breakthrough path)

จากการวิเคราะห์นี้ชาวโลกมีเวลาอีกเพียง 5 ปีก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะวิวัฒน์ไปจนไม่มีทางหมุนกลับ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะแก้ปัญหาอันหนักหนาสาหัสของโลกได้ทันหรือไม่ในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น มองเพียงผิวเผินโอกาสที่โลกนี้จะเลี่ยงเดินเข้าทางสู่ความล่มสลายคงไม่มีเลย แต่ผู้เขียนไม่คิดเช่นนั้น เขายืนยันอย่างหนักแน่นว่าเรายังมีโอกาสและอธิบายความเชื่อของเขาโดยเริ่มกล่าวถึงตัวขับเคลื่อน 3 ด้าน ซึ่งผลักดันโลกให้เผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านระบบนิเวศ ในปัจจุบันวิวัฒนาการในแต่ละด้านอยู่ในสภาพที่ไม่มีทางจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้เลย

ด้านเศรษฐกิจมีวิวัฒนาการ 3 อย่างด้วยกัน คือ 1)การกระจายทรัพย์สินในโลกไม่เป็นธรรมอย่างร้ายแรง การขยายตัวทางเศรษฐกิจตกอยู่กับคนรวยเกือบทั้งหมดปล่อยให้คนจนจำนวนมากอดอยากต่อไป ตัวเลขบ่งว่ามหาเศรษฐีโลกเพียง 500 คนมีทรัพย์เท่ากับของชาวโลก ที่มีทรัพย์น้อยถึงกว่า 3,000 ล้านคน และกลุ่มที่ร่ำรวย 20% ในโลกมีรายได้สูงถึง 90 เท่าของกลุ่มที่มีรายได้น้อย 20% ความไม่เป็นธรรมนี้เป็นเสมือนระเบิดที่รอวันจุดชนวน 2)การบริโภคแบบสุดโต่ง กลุ่มชนที่มีทรัพย์มีความโลภอย่างไม่สิ้นสุดและบริโภคสิ่งที่ไม่จำเป็นมากขึ้นๆ ทำให้เกิดความอ้วนจนเข้าขั้นอันตรายและใช้ทรัพยากรแบบสูญเปล่าเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มที่ยังไม่มีรายได้และทรัพย์มากพอ ก็พยายามเลียนแบบ และทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งทั้งสิ่งที่สนองความจำเป็น และความต้องการแบบเกินความจำเป็น จนโลกนี้ไม่มีทรัพยากรพอที่จะสนับสนุนความสูญเปล่านั้น และ 3)เศรษฐกิจขาดสมดุลทำให้ระบบการเงินขาดเสถียรภาพ สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายซื้ออย่างไม่หยุดยั้งในขณะที่ประเทศอื่น เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นฝ่ายขาย สหรัฐไม่มีเงินจ่ายก็กู้ยืมในรูปของการพิมพ์เงินดอลลาร์ ที่ผู้ขายเก็บไว้เป็นเงินสำรอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจนเป็นกองแบบภูเขาเลากาแล้ว ความไม่สมดุลแบบนี้จะเป็นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไม่ได้ ในวันหนึ่งข้างหน้ามันจะสะท้อนออกมาในรูปของปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเงินแบบร้ายแรง

ทางด้านสังคม ปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืนได้แก่ความกดดันในโครงสร้างของสังคม อันเนื่องมาจาก การเพิ่มของประชากรอย่างไม่หยุดยั้ง และราว 98% เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา จำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกเสียจากว่าประชาชนในประเทศยากจนจำนวนมากจะตายด้วยความอดอยากในเร็ววัน ส่วนในประเทศพัฒนาแล้ว อัตราส่วนของประชาชนสูงวัยจะเพิ่มขึ้นจนเกินผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจะสนับสนุนได้ นอกจากนั้นโครงสร้างทางสังคม ยังถูกโจมตีอย่างหนักจากปัญหาอื่นๆ เช่น ความล่มสลายในครอบครัว การใช้ความรุนแรงเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ความนิยมในการมีเพศสัมพันธ์แบบชั่วคราว หรือมีกิ๊ก การใช้และขายเด็กในโรงงาน และเพื่อการค้าประเวณี สิ่งเหล่านี้กำลังนำสังคมไปสู่ความล่มสลาย

ทางด้านระบบนิเวศต้นตอของปัญหาอยู่ที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรบนโลกเพิ่มขึ้นทุกวันในขณะที่ทรัพยากรเหล่านั้นค่อยๆ หมดไป จำนวนคนที่มากขึ้นและแต่ละคนใช้ทรัพยากรมากขึ้นพร้อมกับขับถ่ายมากขึ้นนำไปสู่ความขาดแคลนและความไม่สมดุลทุกๆ ด้าน เช่น ในด้านของน้ำ จริงอยู่น้ำดูมีอยู่ทั่วไป แต่น้ำที่มนุษย์นำมาใช้ได้มีเพียง 0.007% ของน้ำบนผิวโลกเท่านั้น ในปัจจุบันราวหนึ่งในสามของประชากรโลกจึงมีน้ำไม่พอใช้โดยเฉพาะในแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และเอเชียใต้ ขาดแคลนน้ำในระดับวิกฤต ในทำนองเดียวกันอากาศก็มีมากมาย แต่อากาศที่ใช้หายใจได้เริ่มขาดแคลน เพราะปริมาณของออกซิเจนในบรรยากาศลดลง เนื่องจากการเผาผลาญถ่านหินในขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ฉะนั้นเมืองใหญ่ๆ เริ่มมีออกซิเจนไม่พอทำให้ร่างกาย ไม่สามารถต้านทานโรคร้าย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเผาผลาญน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อันเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังสร้างปัญหาสารพัดอย่าง รวมทั้งความแห้งแล้ง พายุร้ายแรง ฝนตกหนัก น้ำท่วม แผ่นดินพังทลาย และเชื้อโรคร้ายระบาดอย่างกว้างขวาง ในขณะที่การเพิ่มของประชากรต้องการอาหารเพิ่มขึ้น พื้นดินที่มีความเหมาะสมสำหรับผลิตอาหารนับวันจะยิ่งน้อยลง เนื่องจากการนำพื้นดินไปใช้ในการสร้างเมือง ความแห้งแล้งจนทำให้พื้นดินเป็นทะเลทราย สารเคมีทำให้ดินเป็นพิษ และการชลประทานที่ไม่มีการระบายน้ำอย่างเพียงพอทำให้ดินเค็ม

หน้า 46
——————————————————————————–

The Chaos Point : โลกย่างเข้าสู่ทางสองแพร่ง (จบ)

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย ไสว บุญมา  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3871 (3071)

ดังที่กล่าวถึงในตอน 2 แม้ปัญหาจะหนักหนาสาหัสและมนุษยชาติมีเวลาอีกเพียง 5 ปี ก่อนที่โลกอาจจะเดินเข้าสู่ทางแห่งความล่มสลาย โดยไม่มีทางแก้ ผู้เขียนเชื่อมั่นว่ายังไม่สายเกินไป ที่จะป้องกันมิให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น เขาเชื่อเช่นนั้นส่วนหนึ่งเพราะในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สามารถปรับตัวเองได้เมื่อถึงเวลา เขาย้อนไปดูอารยธรรมโบราณเพื่อแสวงหาบทเรียน และพบว่าวิธีแก้ปัญหาที่ทำให้โลกวิวัตน์มาได้จนถึงปัจจุบันอยู่ในกรอบที่ไอน์สไตน์พบแล้ว นั่นคือ ก่อนอื่นเราจะต้องเปลี่ยนแนวคิด

เนื่องจากแนวคิดที่ก่อให้ปัญหาในปัจจุบันวางอยู่บนฐานของการแสวงหาความมั่งคั่งทางวัตถุ และการใช้เทคโนโลยีควบคุมธรรมชาติ ผู้เขียนเสนอว่าแนวคิดใหม่จะต้องไม่วางอยู่บนฐานเช่นนั้นอีก หากจะต้องวางอยู่บนฐานของการพัฒนาคน ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราเข้าใจและยอมรับในความจริงพื้นฐาน 3 ข้อคือ (1) ทุกอย่างในจักรวาลมีความเชื่อมโยงกัน ไม่มีอะไรแยกตัวอยู่ได้อย่างอิสระ ความจริงข้อนี้เป็นที่ยอมรับ ทั้งในทางวิชาฟิสิกส์ ชีววิทยาและจิตวิทยาแล้ว (2) การสื่อสารจะต้องได้รับการพัฒนา รวมทั้งการสื่อสารระหว่างคนใกล้ชิดภายในครอบครัวตลอดไปจนถึงการสื่อสารกับคนในวงกว้างออกไปในระดับโลก นอกจากนั้นยังต้องมีการพัฒนาการสื่อสารที่สำคัญที่สุดอีกด้านหนึ่งคือ (3) การสื่อสารกับตนเองอันได้แก่ การพัฒนาการมีสติซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจตนเองและการลดอัตตา หรือความยึดมั่นในความสำคัญของตัวเองเป็นหลัก ความมีสติจะเป็นรากฐานของการผลักดันโลกไปในทางสู่ความราบรื่น

ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะสำหรับนำไปปฏิบัติโดยแยกออกเป็น 4 หมวดหมู่ด้วยกันคือ

ละทิ้งความเชื่อเก่าๆ หมวดนี้มีอยู่ด้วยกัน 16 ข้อ บางข้อผู้เขียนเชื่อว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

“ความเรียบร้อยของสังคมเกิดจากระบบที่มีลักษณะของพีระมิด ซึ่งคนไม่กี่คนที่อยู่บนส่วนยอดของพีระมิดมีอำนาจสูงสุด และออกคำสั่งให้คนส่วนใหญ่ทำตาม

“ทุกคนเป็นตัวตนของตัวเองที่แยกออกจากคนอื่นโดยเด็ดขาด

“ทุกอย่างจะกลับไปดังเดิมได้ ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งชั่วคราวเมื่อมันผ่านไป หรือเมื่อเราใช้วิธีแก้วิกฤตให้มันผ่านไปได้ ทุกสิ่งจะกลับสู่ภาวะปกติ

“สามารถตีค่าทุกอย่างเป็นตัวเงินได้รวมทั้งชีวิตมนุษย์ และทุกคนต้องการความร่ำรวย

“ต้องแสวงหาประสิทธิภาพสูงสุดจากทุกสิ่งทุกอย่างและจะผลิตอะไรก็ได้หากมีคนต้องการ

“เทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง หากยังไม่มีก็สามารถพัฒนาขึ้นมาใหม่ได้

“ของใหม่ย่อมดีกว่าของที่มีอยู่แล้ว

“ประเทศของตนย่อมดีกว่าประเทศอื่นและย่อมเป็นฝ่ายถูกเสมอ

“ไม่จำเป็นต้องกังวลกับปัญหาของอนาคตซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคนรุ่นต่อไป

“ธรรมชาติมีทุกสิ่งทุกอย่างมากมาย จะใช้เท่าไรก็ไม่หมด

“โลกเป็นเสมือนระบบเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้เช่นเดียวกับเครื่องจักรอื่นๆ

“ชีวิตคือการต่อสู้ ผู้ที่จะรอดคือผู้ที่ชนะการแข่งขันซึ่งจะใช้วิธีอะไรก็ได้ที่จะทำให้ประสบชัยชนะ

“ตลาดเป็นเครื่องมือที่สามารถกระจายผลประโยชน์ไปให้ชนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรม

“ยิ่งบริโภคมากเท่าไรและมีความเป็นอยู่อย่างหรูหราเท่าไรยิ่งทำให้ตนมีค่ามากขึ้นเท่านั้น

“ยิ่งมีเงินมากเท่าไร ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

“กำลังทางทหารมีความจำเป็นสำหรับความก้าวหน้าและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ยึดหลักจริยธรรม หรือ ฐานของพฤติกรรมในแนวใหม่ เท่าที่เป็นมาแต่ละสังคมมีหลักจริยธรรม ซึ่งเป็นมาตรฐานของพฤติกรรมของสมาชิกต่างกัน โลกในยุคต่อไปต้องการหลักจริยธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก หลักที่ผู้เขียนแนะนำมีที่มาจากมหาตมะ คานธี และคำเรียกร้องของนักวิทยาศาสตร์ 1,670 คน รวมทั้งผู้ได้รับรางวัลโนเบล 102 คน ซึ่งประกาศออกมาเมื่อปี ค.ศ.1993 อันมีใจความว่า “มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ผู้อื่นจะได้อยู่ได้ด้วย” หลักจริยธรรมนี้จะป้องกันมิให้เกิดการรังแกซึ่งกันและกันและการรังแกธรรมชาติด้วย

กล้าที่จะฝันและพยายามทำไปตามที่ตนฝัน ผู้เขียนเสนอให้ละความดูดาย เมื่อเห็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาก็พยายามหาทางเข้าช่วยแก้ เราต้องเชื่อว่าเราทุกคนมีบทบาท หลักนี้มีที่มาจากคำพูดอันโด่งดังของโรเบิร์ต เคนเนดี้ ที่ว่า “เมื่อเห็นโลกดังที่เป็นอยู่ บางคนถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ผมใฝ่ฝันถึงโลกที่สวยงามแล้วถามว่า ทำไมจึงไม่เป็นเช่นนั้น”

พัฒนาจิตให้เกิดความมีสติ เรื่องความสำคัญของการมีสติอาจเป็นสิ่งที่ชาวโลกตะวันออกคุ้นเคย แต่เป็นของใหม่สำหรับชาวโลกตะวันตก ผู้เขียนเชื่อว่าความมีสติซึ่งอาจพัฒนาได้ด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการนั่งเพ่งลมหายใจเข้าออกจะช่วยให้คนเรามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างจะแจ้งรวมทั้งการเข้าใจในตัวเองด้วย ความมีสติมีพลังอันแรงกล้าที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะนำโลกไปสู่ความราบรื่น

ผู้เขียนเชื่อว่าโลกมีโอกาสสูงที่จะเดินเข้าสู่ทางที่นำไปสู่ความราบรื่นอย่างยั่งยืนเมื่อเวลามาถึงในปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) ความเชื่อของเขาวางอยู่บนฐานของตัวเลขและทฤษฎี “ผีเสื้อกระพือปีก” (Butterfly Effects) ของ Edward Lorenz ที่ว่าในภาวะที่เหมาะสมความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจะก่อให้เกิดผลใหญ่หลวง ตัวเลขที่ผู้เขียนอ้างถึงได้แก่ การสำรวจในสหรัฐอเมริกาซึ่งพบว่าคนอเมริกันราว 25% มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแนวคิด พร้อมกับได้ปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิตของตนไปสู่ความเป็นอยู่แบบง่ายๆ คนกลุ่มนี้ได้เริ่มดำเนินชีวิตในแนวนั้นอย่างจริงจัง และอย่างเงียบๆ จึงไม่ค่อยมีใครมองเห็นเพราะคนอเมริกันราวสองเท่านั้น หรือ 48% ยังยึดมั่นในการดำเนินชีวิตตามแนววัตถุนิยมแบบสุดโต่ง คนอเมริกันที่ละทิ้งวัตถุนิยมนี้มีเพื่อนอยู่ทั่วโลก รวมทั้งในยุโรปตะวันตก ฉะนั้นคนกลุ่มนี้กำลังเป็นผู้ที่เริ่มการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วตามทฤษฎีดังกล่าว เพราะโลกกำลังตกอยู่ในสภาพที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วแล้ว

ข้อสังเกต – จากวันนี้ถึงปี พ.ศ.2555 เป็นเวลาเพียง 5 ปี การที่ผู้เขียนทำนายไว้ว่าเมื่อถึงปีนั้น โลกอาจจะเดินเขาสู่ทางล่มสลายชนิดกู่ไม่กลับ หรือ อาจจะเดินเข้าทางที่จะวิวัฒน์ไปสู่ความมีสันติสุข จึงอาจมองได้ว่าเป็นความกล้าที่จะบอกว่าเมื่อถึงวันนั้นเขาจะฟันธงได้เลยว่าโลกกำลังจะเดินไปทางไหน หลายคนคงรอให้วันนั้นมาถึง หรือเราอาจมองได้อีกอย่างหนึ่งว่าเขาต้องการท้าทายให้ทุกคนคิดและเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะมันน่าจะเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดแล้วว่าถ้าผู้ที่หลงใหลในวัตถุเปลี่ยนใจ และเริ่มใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายโดยไม่รังแกกันเองและรังแกธรรมชาติโลกย่อมมีสันติสุข

สำหรับคนไทยการดำเนินชีวิตตามแนวใหม่ที่ผู้เขียนเสนอไม่แตกต่างจากพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คนไทยทุกคนคงได้ฟังหรืออย่างน้อยก็เคยได้ยินมาบ้างแล้ว ส่วนจะมีกี่คนที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และอีกกี่คนนำไปปฏิบัติยังเป็นข้อกังขา เพราะเท่าที่ผ่านมากิจกรรมที่คนไทยส่วนใหญ่ทำ มักเป็นการทำแต่ปาก หรือไม่ก็ทำไปตามกระแส หรือเพื่อเอาหน้าและมีชื่อว่าได้ทำ

ในช่วงเวลา 5 ปีต่อไปเราคงจะได้เห็นการต่อสู้กันของกลุ่มที่ยึดวัตถุเป็นพระเจ้าและกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่แนวใหม่ ซึ่งตอนนี้ยังมีจำนวนเพียงหยิบมือเดียวโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจำนวนคนในประเทศใหญ่ๆ เช่น จีนและอินเดีย สองประเทศนี้กำลังผลักดันให้เกิดการพัฒนาแบบวัตถุนิยมอย่างเร่งด่วน อีก 5 ปีคงไม่นานเกินรอ เมื่อถึงวันนั้นเราคงจะพอรู้ว่า น้ำน้อยยังจะแพ้ไฟอยู่อีกหรือเปล่า และเราจะมีโลกที่น่าอยู่ส่งต่อให้ลูกหลานของเราหรือไม่ หรือมันจะล่มสลายคามือเราไปเลย

หน้า 50