ปัจจุบันในเรื่องของ “ทฤษฎีความโกลาหล” หรือ Chaos Theory จะไม่ใช่แนวความคิดใหม่อะไรอีกต่อไปแล้ว ก็ยังดูเหมือนว่า มีผู้เข้าใจมัน น้อยเหลือเกิน จากการที่ได้ฟังคนพูด หรือเขียนเรื่องนี้ อย่างค่อนข้างคลาดเคลื่อนกันมาก ไปถึงขั้น “เลอะเทอะ” ผมหวังว่า บทความนี้ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจ ต่อทฤษฎีโกลาหลถูกต้องมากขึ้น

ก่อนจะพูดถึง “ทฤษฎีความโกลาหล” เราคงต้องอธิบายกันเสียก่อนว่า “ความโกลาหล” หรือ Chaos คืออะไร? เพราะจุดนี้คือจุดที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากที่สุด บางคนเข้าใจว่า “ความโกลาหล คือ หนทางไปสู่ความพินาศ” บางคนก็คิดว่า “สิ่งที่โกลาหลคือสิ่งที่ไม่สามารถทำนายได้ เพราะแม้แต่ที่จะเข้าใจมันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว” ซึ่งคล้ายกับความเข้าใจของคนอีกไม่น้อยที่ว่า “ทฤษฎีความโกลาหลต้องการบอกว่า ธรรมชาติมีแต่ความไร้ระเบียบ”

บางคนก็อ้างทฤษฎีความโกลาหลพยากรณ์เรื่องต่างๆ ไปถึงขั้นที่กล่าวว่า “ทฤษฎีความโกลาหลพยากรณ์ว่า โครงการ X ไม่มีทางทำได้สำเร็จ” โดยที่โครงการ X เป็นอะไรได้สารพัดตั้งแต่ โครงการจูราสิคปาร์ก ไปจนถึงการปฏิรูปทางการเมืองไทย เป็นต้น

แท้ที่จริงแล้ว “ความโกลาหล” ในทฤษฎีความโกลาหล ก็คือ ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนว่า เกิดขึ้นอย่างสะเปะสะปะ แต่ที่จริงแล้วแฝงไปด้วยความเป็นระเบียบ ตัวอย่างของระบบที่แสดงความโกลาหลง่ายๆ ระบบหนึ่งคือ เครื่องสร้างเลขสุ่มเทียมในเครื่องคอมพิวเตอร์ นั้นเอง ใครที่เคยใช้คอมพิวเตอร์ในงานจำลองสถานการณ์จริง

คำถามที่ว่า ศึกษาทฤษฎีความโกลาหลไปแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร สามารถตอบได้ว่า ทฤษฎีความโกลาหลมีประโยชน์อย่างน้อยใน 3 ทางด้วยกัน คือ ใช้ในการวิเคราะห์ระบบและทำนายอนาคต ใช้ในการสร้างระบบโกลาหล  และใช้ในการควบคุม-สร้างความเสถียรให้กับระบบ ดังสามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้

1) ใช้ในการวิเคราะห์ระบบและทำนายอนาคต แม้ว่าเราจะไม่สามารถทำนายอนาคตของระบบโกลาหลในระยะยาวได้ เราก็ยังมีโอกาสทำนายอนาคตของมันในระยะสั้นได้ หากเราสามารถหาโมเดลที่อธิบายพฤติกรรมของระบบนั้น และทราบสภาวะตั้งต้นอย่างแม่นยำพอสมควร

ในปัจจุบัน การวิจัยเพื่อทำนายอนุกรมตามลำดับเวลา (time-series data) ด้วยแนวคิดของทฤษฎีความโกลาหล กำลังดำเนินไปอย่างแข่งขัน และมีการจัดการแข่งขันทุกปี ที่สถาบันวิจัยแห่ง ซานตาเฟ ในสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างของการประยุกต์ในแนวนี้ได้แก่ การทำนายความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวันของบริษัทไฟฟ้า (ซึ่งประยุกต์ใช้จริงที่ บริษัทไฟฟ้าคันไซในญี่ปุ่น) หรือปริมาณความต้องการใช้น้ำในแต่ละวัน (ซึ่งประยุกต์ใช้จริงที่บริษัทเมเดนฉะในญี่ปุ่น) ตลอดจนการพยากรณ์อากาศ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้หนึ่ง ที่ทำให้เกิดศาสตร์แห่งความโกลาหลเองด้วย เป็นต้น

ส่วนการทำนายที่เราจะไม่ได้ยินข่าวความสำเร็จเลยก็คือ การทำนายทางการเงินเช่นราคาหลักทรัพย์หรือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพราะถึงสำเร็จมันก็จะเป็นความลับตลอดกาล

2) ใช้ในการสร้างระบบโกลาหล ผู้อ่านอาจรู้สึกแปลกใจว่า อยู่ดีๆ ทำไมเราต้องสร้างระบบโกลาหลขึ้นมาด้วย คำตอบก็คือ มีผู้เชื่อว่า “ในธรรมชาติ ความโกลาหลเป็นสิ่งสากลมากกว่าและดีกว่าระเบียบแบบง่ายๆ” เช่น สมัยหนึ่งเราเคยเชื่อว่า อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ คืออุณหภูมิคงที่

อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองบางชิ้นทำให้ทราบว่า อุณหภูมิที่มนุษย์รู้สึกสบายตัวกว่า คือ อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปมา อย่างโกลาหล รอบจุดๆ หนึ่ง แนวคิดนี้ได้นำมาสู่การสร้างเครื่องทำความร้อนของบริษัท ซันโย ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านชนิดแรกที่ใช้ทฤษฎีความโกลาหล (หลังจากที่ “ทฤษฎีความกำกวม” – fuzzy theory เคยถูกประยุกต์ใช้มาแล้วในเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด)

นอกจากนี้ บริษัท มัทสึชิตะ ยังใช้ทฤษฎีโกลาหลควบคุมหัวฉีดของเครื่องล้างจาน ซึ่งพบว่าสามารถล้างจานได้สะอาด โดยประหยัดน้ำได้กว่าเครื่องล้างจานแบบอื่นๆ ทั้งนี้เพราะเส้นทางการเคลื่อนที่ของหัวฉีดที่ดูเหมือนไร้ระเบียบ ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ได้ดีกว่า การเคลื่อนที่ตามแบบแผนปกติ

3)ใช้ในการควบคุม สร้างความเสถียรภาพให้กับระบบ การที่ระบบแบบโกลาหลนั้นไว้ต่อสภาวะตั้งต้นมาก การรบกวนเพียงเล็กน้อยจึงอาจก่อให้เกิดผลขยายได้มาก ในงานด้านวิศวกรรมควบคุม การเติมสัญญาณรบกวนต่อเพียงเล็กน้อย ที่เหมาะสมสู่ระบบที่เป็นระบบโกลาหล จึงสามารถใช้ควบคุมให้ระบบนั้น อยู่ในสภาวะเสถียร หรือขับเคลื่อนให้ระบบนั้นไปสู่สภาวะที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ตามแนวความคิดนี้ได้แก่ การที่องค์การนาซา (NASA) สามารถควบคุมยานอวกาศ ISEE-3 ให้ลอยไปสู่ดาวหางที่ต้องการสำรวจได้โดยใช้เชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อย หรือการใช้สัญญาณไฟฟ้า ช่วยรักษาโรคหัวใจในกระต่าย ที่ช่วยทำให้หัวใจของมันเต้นตามปกติได้ นอกจากการประยุกต์ใช้หลักๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทฤษฎีความโกลาหลยังสามารถประยุกต์ใช้ได้อีกในหลายสาขา เช่น ในด้านการสื่อสาร เราสามารถใช้สัญญาณแบบโกลาหลในการเข้ารหัสข้อมูล เพื่อป้องกันคนแอบดูข้อมูล

ในด้านเศรษฐศาสตร์ การประยุกต์ใช้ทฤษฎีความโกลาหลมานานแล้ว และการประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน มักเป็นไปอย่างรัดกุมคล้ายกับด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ที่กล่าวว่า การประยุกต์ใช้ในด้านนี้ มีมานานแล้วนั้น สามารถดูได้จาก ผลงานของแมนเดลบรอท (Mandelbrot) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยสถาปนาศาสตร์แห่งความโกลาหลขึ้น ในทศวรรษ 1960 แมนเดลบรอทนำเศรษฐศาสตร์มาผูกกับทฤษฎีความโกลาหล นั้นก็คือลักษณะการเปลี่ยนแปลงราคาฝ้าย เมื่อมองในสเกลรายวัน คล้ายกับเมื่อมองในสเกลรายเดือน

ในด้านการเงิน วิวาทะเรื่องทฤษฎีความโกลาหลกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดอย่างยิ่ง เพราะแนวความคิดตามทฤษฎีความโกลาหล ได้เพิ่มมุมมองใหม่อันท้าทายให้กับการวิวาทะว่า สมมติฐานเรื่อง “ตลาดมีประสิทธิภาพ” กล่าวโดยย่อ ตลาดการเงินที่มีประสิทธิภาพหมายถึง ตลาดที่ผลของสารสนเทศต่างๆ ได้สะท้อนออกมาในราคาของหลักทรัพย์ในตลาดอย่างหมดสิ้นและทันที

จุดที่ก่อให้เกิดการวิวาทะก็คือ หากสมมติฐานนี้เป็นจริง ราคาหลักทรัพย์ในตลาดจะแกว่งขึ้นลงแบบสุ่ม (Random Walk) จึงป่วยการที่บรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและนักวิเคราะห์ปัจจัยเชิงเทคนิค จะพยายามทำนายราคาหลักทรัพย์ หรือแนะนำลูกค้าว่าควรซื้อหลักทรัพย์ใด เพราะผลที่ได้จะไม่มีอะไรดีกว่า ให้ลิงจับฉลากเลือก เมื่อเราดูกราฟการขึ้นลง ของราคาหลักทรัพย์ที่แสนจะดูเหมือนไร้แบบแผน สมมติฐานนี้ก็ดูเป็นเรื่องน่าเชื่อขึ้นมา

การกำเนิดขึ้นของทฤษฎีความโกลาหล ได้สร้างความหวังแก่ผู้ที่ไม่เชื่อว่า ตลาดมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพราะหากราคาฝ้าย มีลักษณะความคล้ายกับตัวเองแบบแฟรกตัล (ซึ่งหมายถึงว่ามันเคลื่อนไหว ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ตายตัว) ได้แล้ว ทำไมราคาหลักทรัพย์ หรืออัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา จึงจะมีลักษณะเช่นเดียวกันไม่ได้ และหากตลาดหลักทรัพย์ เป็นระบบโกลาหลแล้ว แม้เราจะทำนายอนาคตระยะไกลของมันไม่ได้ เราก็ยังมีความหวังที่จะทำนายอนาคตระยะใกล้ของมันอย่างไม่คลาดเคลื่อนนัก

การประยุกต์ทฤษฎีความโกลาหลในสังคมไทย เป็นการประยุกต์ที่แตกต่างกับวงการวิชาการโลกโดยสิ้นเชิง คือ ไม่พบการประยุกต์ในด้านวิทยาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์เลย แต่พบในด้านการอธิบายสังคมในประเทศไทย เป็นไปอย่างหละหลวม กล่าวคือ มักเป็นการหยิบยืมเอาเฉพาะแนวความคิดบางอย่างในทฤษฎีนี้ ไปจับกับสิ่งที่ต้องการศึกษา

เช่น ระบบการเมือง หรือระบบสังคมเพื่อหามุมมองใหม่ หรือเพียงใช้ภาษาของทฤษฎีนี้เพื่อสื่อสารที่ตนต้องการจะสื่ออยู่แล้ว ออกมาในรูปใหม่ ที่ทำให้คนฟังฉงนฉงายเท่านั้น การอ่านงานเหล่านี้จึงต้องอ่านอย่างยอมรับเงื่อนไขนี้ก่อน (มิฉะนั้น จะเกิดอาการหงุดหงิดอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับผม)

ตัวอย่างของการประยุกต์ทฤษฎีความโกลาหล ในการอธิบายสังคมไทยที่ผมพบในภาษาไทยได้แก่งานเขียนของ ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ และของยุค ศรีอาริยะ

ในหนังสือ “ทฤษฎีความไร้ระเบียบ กับทางแพร่ของสังคมสยาม” ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ได้ยืมแนวความคิด จากทฤษฎีความโกลาหล มาวิเคราะห์สังคมไทย โดยถือตามแนวคิดของ Ervin Laszio ว่า สังคมใดๆ ล้วนเป็นระบบพลวัตรแบบห่างไกลความสมดุล ซึ่งน่าจะมีความหมายเหมือนกับระบบแบบโกลาหล แม้เรายังไม่มีเครื่องมือทั่วไปใดๆ ที่ช่วยตัดสินว่า ระบบใดระบบหนึ่งเป็นระบบโกลาหลหรือไม่ การทึกทักว่าสังคมใดๆ รวมทั้งสังคมไทยเป็นระบบแบบโกลาหล จึงเป็นการก้าวกระโดดทางความคิดที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน

ซึ่งข้อสรุปหลักชี้เตือนให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ภายใต้การโจมตีของคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงลูกต่างๆ ทั้งในระดับโลกและภายในสังคมไทยเอง ซึ่งทำให้สังคมไทยเข้าสู่สภาพโกลาหลและกำลังอยู่ในทางแพร่ง

ทัศนะโดย : ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ทีดีอาร์ไอ   กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546