เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2548 หนังสือพิมพ์รายวัน “ทาเกสสปีเกิล” ในกรุงเบอร์ลิน ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์จิตแพทย์คนหนึ่งแห่งโรงพยาบาล “ชาร์ริแทร์” เธอพูดว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยจากความเครียดในประเทศเยอรมนีมีจำนวนเพิ่มสูงมากในระยะ 5 ปีหลัง ชาวเยอรมันจำนวนค่อนข้างมากมีความวิตกกังวลต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงสูงขึ้น คำว่า angst อันเป็นภาษาเยอรมันซึ่งแปลว่า “ความกลัว” ปรากฏมากขึ้นในสื่อมวลชนเยอรมัน และที่น่าสนใจก็คือในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษก็รับคำว่า angst ไปใช้มากขึ้น เพราะมันสะท้อนความกลัวที่ลึกไปกว่าคำว่า fear ในภาษาอังกฤษ

ถ้าเรากวาดสายตาไปรอบโลกจะพบว่าความกลัว (angst) ต่ออนาคตที่คาดเดาไม่ได้นั้น ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเยอรมนีเท่านั้น ประเทศอื่นๆ อีกมากน่าจะมีผู้คนที่หวาดหวั่นต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ทั้งๆ ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก้าวไปไกลมากจนถึงสามารถชะลอความตายของมนุษย์ได้ อายุโดยเฉลี่ยก็สูงขึ้น ความสมบูรณ์พูนสุขทางวัตถุก็มีจนล้นเหลือ แต่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศที่ก้าวหน้าในตะวันตกและญี่ปุ่นยังคงไม่ได้มีความสุขกว่า 50 ปีก่อน หรือกล่าวให้ชัดลงไปความสุขกลับน้อยลงกว่าอดีต

มันเป็นโลกปริทรรศน์โดยแท้

จากความกลัวและความทุกข์ที่สังคมต่างๆ เผชิญในวันนี้ ทำให้นักคิด นักวิชาการ และประชาชน จำนวนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นตัวเลขของความเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แต่ไม่ได้คำนึงถึงเงื่อนไขด้านอื่นๆ ของสังคมว่าเป็นเป้าหมายที่ยังคงต้องเดินไปหามันหรือไม่

ริชาร์ด เลยาร์ด (Richard Layard) ได้เขียนหนังสือ เล่มหนึ่งชื่อ “Happiness is back” พูดถึงความ จำเป็นที่รัฐจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะเสียใหม่ และปัจเจกชนเองก็ต้องปรับทัศนคติหรือปรัชญาชีวิตเสียใหม่ด้วย โดยเอา “ความสุข” เป็นเป้าหมายแทนความร่ำรวยทางวัตถุฝ่ายเดียว

เรื่องที่ริชาร์ด เลยาร์ด นำเสนอนั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเคลื่อนไหวของกระบวนการกระบวนทัศน์ใหม่ ถ้าบทความนี้ถูกเสนอเมื่อ 20 ปีก่อน ความคิดเช่นนี้อาจจะถูกโจมตีว่าเพ้อฝัน เพราะการวัดความสุขที่เกิดขึ้นในสมองมนุษย์เป็นเรื่องที่วัดได้ยาก ทำให้ขาดน้ำหนักในการผลักดัน แต่วันนี้ “วิทยาศาสตร์ใหม่” โดยเฉพาะ neuroscience สามารถวัดความสุขได้จริง จึงน่าจะทำให้การผลักดันนโยบายสาธารณะมีพลังมากขึ้น ในสังคมไทยเองสำนักงานปฏิรูปสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ก็กำลังเคลื่อนไหวนโยบาย “อยู่เย็นเป็นสุข” ว่าเป็นเป้าหมายที่เราควรเพิ่มเข้าไป

อย่างไรก็ตาม การเอาชนะกลุ่มเศรษฐกิจกระแสหลักให้ได้มันยังเป็นหนทางที่ยาวไกลอยู่ ซึ่งควรศึกษาบทเรียนของกระบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่ามีความคดเคี้ยวของการเดินทางอย่างไร

ดูจากจุดเริ่มต้นของความคิดซึ่งส่องประกายจากหนังสือ The Silent Spring (ฤดูใบไม้ผลิที่เงียบงัน) ของ ราเชล คาร์สัน (Rachel Carson) ซึ่งออกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2505 ทำให้สังคมตะวันตกต้องตะลึงงันกับ “ความจริงใหม่” ที่ถูกมองข้ามและเริ่มก่อตัวเคลื่อนไหว น้ำหนักของกระบวนการเริ่มมีมากขึ้น เดนนิส มีดอฟ (Dennis Meadows) ได้เขียนหนังสือชื่อ “การเติบโตที่จำกัด” (limits to growth) ในปี 2515 ความคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ได้มีการค้นคว้าทดลองทำอย่างจริงจังจนหลายประเทศแถบสแกนดิเนเวียได้รับความสำเร็จค่อนข้างสูง และก็มีพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังที่เรียกกันว่า พรรคกรีน เกิดขึ้นในหลายประเทศ

อย่างไรก็ตามมองภาพรวมทั้งโลกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังไม่สามารถยับยั้งทิศทางการทำลายโลกจากนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นความรวยและความโลภเป็นสรณะ แม้กระทั่งพรรคกรีนแห่งเยอรมนีซึ่งมีทีท่าว่าจะเป็นพลังแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ก็ขาดพลังทางสังคม และพลังทางการเมืองอย่างน่าใจหาย วิกฤตโลกมันโบยแส้ใส่เราทุกวันจากรายงานดินฟ้าอากาศที่วิปริตทำให้ผู้คนล้มตายลงครั้งละมากๆ จากภัยธรรมชาติ และยังไม่นับหายนะลูกใหม่ที่จ่อคอหอยมนุษยชาติอยู่คือ โรคระบาดไข้หวัดนกที่อาจกลายพันธุ์เข้าไป สู่ผู้คน แล้วกลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่อาจจะมีผู้ตายนับล้านคน

มนุษย์จะต้องหันทิศทางการพัฒนาจากการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจของการผลิตเชิงปริมาณ มาสู่การผลิตเชิงคุณภาพด้วย ใช้หลักคิดเดียวกับเรขาคณิตเศษส่วน (fractal geometry) ที่มีอยู่ในทฤษฎีไร้ระเบียบสร้างเป็นโมเดลของการผลิตซ้ำในทางลึกที่ละเอียดอ่อน แทนที่จะขยายออกในทางปริมาณ แต่กลับให้งานเกิดขึ้นจากการให้เวลานั่งผลิตงานแต่ละชิ้นให้ประณีต ให้มีคุณภาพ ทำให้ได้คุณค่าทางจิตใจของผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย เรขา คณิตเศษส่วนน่าจะเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในยุคที่ทรัพยากรต่างๆ เริ่มจำกัดขณะที่ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ในจีนและอินเดียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะโดยหลักคิดแบบเรขาคณิตเศษส่วนเรื่องการขยายตัวของ self similarity มันสามารถขยายซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

การเคลื่อนไหวสังคมไปสู่การพัฒนาทิศทางใหม่ที่เชื่อมวัตถุกับจิตใจเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะมิใช่กระแสหลักแต่เมื่อศึกษางานเขียนชิ้นสำคัญๆ ในการทำนายอนาคตโลกก็พอมองเห็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์ จากหนังสือ “คลื่นคอนดราเทียฟลูกที่ 6” ที่เขียนโดย ลีโอ เนฟิโอดอฟ (Leo Nefiodow) ซึ่งนำความรู้นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อ คอนดราเทียฟ (Kondratieff) ซึ่งวิเคราะห์คลื่นความยาวทางเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีอายุคลื่นแต่ละคลื่นประมาณ 50 ปี ซึ่งมีช่วงคลื่นเศรษฐกิจขาขึ้นจนถึงขาลงว่ามาจากผลนวัตกรรมทางเทคโนโลยี คอนดราเทียฟวิเคราะห์ลูกแรกที่สำคัญเมื่อปี ค.ศ.1800 ว่าเกิดจากนวัตกรรมเครื่องจักรไอน้ำมาใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมผ้าฝ้าย เนฟิโอดอฟนำความรู้นี้มาพัฒนาต่อเมื่อ 20 ปีก่อน เขาบอกว่าขณะนี้สังคมตะวันตกซึ่งเป็นหัวจักรเศรษฐกิจโลกนั้นกำลังอยู่ในช่วงคลื่นยาวคอนดราเทียฟลูกที่ 5 ซึ่งตัวเทคโนโลยีสำคัญคือ เทคโนโลยีสารสนเทศ และผลิตผลสำคัญคือความรู้จะเป็นตัวขับเคลื่อนการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่สังคม เนฟิโอ ดอฟคาดคะเนว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีสำคัญในการสร้างความสามารถทางการผลิตของสังคมจะย้ายไปอยู่ที่จิตวิทยาสังคมอันเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ใช่วัตถุ และสุขภาวะจะเป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่มนุษย์ปรารถนา (ภาษาเยอรมัน Psychosozial, Gesundheit )

เนฟิโอดอฟเชื่อว่าความสามารถของสังคมที่ดีจะเกี่ยวข้องกับสภาพความคิดและจิตใจของคนในสังคมที่สามารถร่วมกันคิดและร่วมกันทำ โดยเฉพาะความสามารถในการคิดอย่างลุ่มลึก มีญาณทัสนะ และมีปัญญาจะเอาชนะความซับซ้อนและความผันผวนที่ถาโถมเข้ามาได้

เนฟิโอดอฟให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาตะวันออกที่มีปรัชญาพื้นฐานของการมองโลกแบบองค์รวม และเสนอว่าตะวันตกจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์เสียใหม่ และต้องสนใจ ศึกษาพัฒนาความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ (spiritual) อย่างจริงจังและเป็นวิทยาศาสตร์

คัดจาก www.matichon.co.th
บทความพิเศษ โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์