จากการได้ติดตามอ่านสิ่งที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวเตือนเรื่องโลกที่กำลังอันตรายจากการโยกโคลงและหมุนเร็วจี๋เกินขอบเขต ทำให้ผมอดถามตนเองไม่ได้ว่าท่านพุทธทาสสามารถมองเหตุการณ์ล่วงหน้าได้เร็วกว่านักวิชาการตะวันตกถึง 30-40 ปีได้อย่างไร ? ท่านใช้หลักอะไร และวิธีการอะไร ในการมองทะลุ (insight) ทั้งๆ ที่สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ คำว่าโลกาภิวัตน์ยังไม่ได้บัญญัติ แต่ท่านบอกว่าโลกกำลังอยู่ใน turmoil ท่านก็รู้ล่วงหน้าแล้วว่าอันตรายใหญ่หลวงน่ากลัวต่อมนุษยชาติได้เกิดขึ้นแล้ว ท่านเตือนเรื่องการอยู่อย่างเท่าทันโลก ไม่ให้ถูก “เขี้ยวของโลก” ขบกัดได้ เสมือนลิ้นงูที่อยู่ในปากงูแต่ไม่ถูกเขี้ยวงูขบกัด

ถ้าจะเปรียบกับทฤษฎีไร้ระเบียบ ท่านพุทธทาสมีความเข้าใจลึกซึ้งต่อระบบที่ห่างไกลจากจุดสมดุล (system far from equilibrium) ท่านรู้กฎของวิทยาศาสตร์แห่งความอนิจจัง (science of becoming) เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อท่านจับการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขเบื้องต้น (initial condition) และเห็นการเชื่อมโยงป้อนกลับของปัจจัยต่างๆ ที่กระทำต่อกันและกัน ท่านจึงรู้เรื่อง “ผลกระทบผีเสื้อ” (butterfly effect) ที่เหตุเล็กๆ สามารถสร้างผลสะเทือนใหญ่ได้

พูดง่ายๆ ท่านเข้าใจแก่นแท้ของศาสตร์แห่งความไร้ระเบียบอย่างดียิ่ง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องพูดตัวทฤษฎี

ปริศนาที่ผมถามตัวผมเอง และพยายามค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ผมพอสรุปเป็นข้อมูลสมมติฐานว่าอัจฉริยภาพของท่านพุทธทาสในการเข้าใจแก่นของทฤษฎีไร้ระเบียบน่าจะมาจากการที่หลักการการคิดและวิธีการแสวงหาปัญญา ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง ว่าด้วยหลักอิทัปปจยตา อันเป็นกฎที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเรื่องการพึ่งพิงอิงกันของปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงกระทบถึงกันและกันหมด และเมื่อเหตุปัจจัยดังกล่าวได้มาพบพานพร้อมกัน “สิ่ง” นั้นจึงอุบัติขึ้นมา

“สภาวะต่างเป็นที่เกี่ยวพันกันอยู่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น” นั่นก็คือ การพิจารณาการปรากฏขึ้นของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ต้องอิงอาศัยกันและกัน การพิจารณาเช่นนี้จะช่วยปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากบัญญัติแห่ง “เอกภาพ-ความหลากหลาย” หรือบัญญัติแห่ง “หนึ่ง-ทั้งหมด” การพิจารณานี้จะช่วยแยกสลายบัญญัติแห่ง “ตัวฉัน” เพราะว่าบัญญัติแห่งตัวตนนั้น สร้างอยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างระหว่างเอกภาพกับความหลากหลาย เมื่อเราคิดถึงฝุ่นผงหนึ่งอณู ดอกไม้ดอกหนึ่งหรือมนุษย์ผู้หนึ่ง ความคิดของเรามิอาจหลุดพ้นออกมาจากความเป็นหนึ่งหรือเอกภาพนั้นได้ เรามองเห็นเส้นที่คั่นอยู่ระหว่างหนึ่งกับสิ่งอื่นๆ ที่มีอยู่มากหลายระหว่างหนึ่งกับสิ่งที่มิได้เป็นหนึ่งนั้น ในชีวิตประจำวัน เราต้องการสิ่งเดียวกันนี้ เช่นเดียวกับที่รถไฟอาศัยราง แต่ถ้าเราประจักษ์แจ้งในธรรมชาติที่ต้องอิงอาศัยกันและกันของฝุ่น ดอกไม้ และมนุษย์ เราจะสามารถมองเห็นได้ว่าเอกภาพนั้นมิอาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากความหลากหลาย ทั้งเอกภาพและความหลากหลายสามารถเหลื่อมล้ำกันได้อย่างเป็นอิสระ เอกภาพก็คือความหลากหลาย นี่คือหลักการของการต่างเป็นและต่างอยู่ในกันและกันของอวตังสกสูตร

ต่างเป็นนั้นหมายถึง “นี่ก็คือนั่น” และ “นั่นก็คือนี่” เมื่อเราพิจารณาลึกๆ ลงไปในความต่างเป็นและต่างอยู่ในกันและกัน เราจะเห็นว่าความคิดเรื่องหนึ่งกับมากมายนั้นคือสังขารที่จิตใจปรุงแต่งขึ้นมา ดุจเดียวกับถังที่ใช้โอบอุ้มน้ำ ครั้นเมื่อเราหลุดพ้นออกจากข้อจำกัดอันนี้ เราก็จะเหมือนกับรถไฟที่วิ่งไปได้โดยไม่ต้องอาศัยราง เช่นเดียวกับเมื่อเราประจักษ์ว่าเราอยู่บนโลกกลมๆ ที่หมุนรอบตัวเองและหมุนรอบดวงอาทิตย์ บัญญัติเรื่องข้างบนข้างล่างก็จะสลายตัวไปเอง เมื่อเราประจักษ์แจ้งในการอิงอาศัยกันและกันของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เราก็จะเป็นอิสระจากความคิดเรื่อง “หนึ่ง-มากหลาย”

ในอวตังสกสูตรได้มีการใช้ภาพของร่างแหแห่งรัตนะเพื่อแสดงถึงปฏิสัมพันธ์และความเกี่ยวพันอันหลากหลายและไม่มีที่สิ้นสุดของสรรพสิ่ง ร่างแหนั้นประกอบด้วยรัตนะอันทอประกายสดใส ซึ่งมีหลากหลายชนิด และแต่ละรัตนะนั้นก็เจียระไนให้มีหลายแง่หลายมุม รัตนะหนึ่งๆ ได้ประมวลภาพของบรรดารัตนะทั้งหลายเอาไว้ในตัว เช่นเดียวกับที่มีภาพตัวอยู่ในรัตนะอื่นๆ ทั้งมวล ในภาพนี้เองที่แต่ละรัตนะย่อมบรรจุไว้ด้วยรัตนะอื่นๆ ทั้งหมด

เราสามารถให้ตัวอย่างจากรูปทรงทางเรขาคณิตไว้ด้วย ยกตัวอย่างรอบวงกลมที่มี ก. เป็นจุดศูนย์กลางวงกลม ก็จะประกอบด้วยจุดต่างๆ รอบๆ ก. ที่มีความห่างจาก ก. เท่าๆ กัน วงกลมเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีจุดต่างๆ ทุกจุดอยู่ที่นั่น ถ้าขาดจุดใดจุดหนึ่งวงกลมก็จะไม่เป็นวงกลมเช่นเดียวกับบ้านที่สร้างขึ้นมาจากสำรับไพ่ หากชักไพ่ใบใดใบหนึ่งออกบ้านทั้งหมดก็จะพังลง ไพ่แต่ละใบต้องขึ้นต่อกันและกัน ถ้าขาดหายไปเพียงหนึ่งใบ บ้านก็จะไม่มี การปรากฏของจุดจุดหนึ่งในวงกลมขึ้นอยู่กับการปรากฏของจุดอื่นๆ ณ จุดนี้เราจะเห็นได้ว่า “หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง” จุดทุกจุดในวงกลมมีความสำคัญทัดเทียมกัน ไพ่แต่ละใบในบ้านที่สร้างด้วยไพ่ ย่อมมีความสำคัญเท่าๆ กัน แต่ละใบย่อมมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของทั้งหมด และย่อมหมายถึงความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของส่วนอื่นๆ ด้วย นี่ก็คือการอิงอาศัยกันและกัน…

…หลากหลายในหนึ่ง มองเห็นหนึ่งในความหลากหลาย มองเห็นหนึ่งในสิ่งที่มิอาจประมาณได้ มองเห็นสิ่งมิอาจประมาณได้ในหนึ่ง การเกิดและการดำรงอยู่ของธรรมทังหลายทั้งปวง มีธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งไม่จริงแท้ และไม่อาจแตะต้องสัมผัสผู้ตรัสรู้ได้ ดังที่ฉันได้กล่าวถึงความคิดประการหนึ่งในวิชาฟิสิกส์ร่วมสมัย คือความคิดเรื่อง “หูรองเท้าบูต” คือหูรองเท้าบูตที่ใช้จับเพื่อดึงเวลาสวมรองเท้าบูต ซึ่งเป็นความคิดที่ใกล้เคียงกับความคิดเรื่องต่างเป็นและต่างอยู่ในกันและกันมาก ความคิดเรื่อง “หูรองเท้าบูต” เป็นความคิดที่ปฏิเสธความคิดหน่วยพื้นฐานของสสาร (ความคิดหน่วยพื้นฐานของสสารที่กล่าวไว้ว่า สสารนั้นเมื่อแยกย่อยลงไปเรื่อยๆ เราจะพบหน่วยที่เล็กที่สุดที่มิอาจแบ่งแยกอีกต่อไปได้ หน่วยดังกล่าวนั้นคือหน่วยพื้นฐานของสสาร) จักรวาลนี้ก็คือ เครือข่ายและโยงใยของปรากฏ การณ์ ที่ปรากฏการณ์หนึ่งจะเกิดขึ้นจากการเกี่ยวโยงของปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งมวล สิ่งที่เราเรียกว่าอนุภาค แท้ที่จริงก็คือความสัมพันธ์ระหว่างอนุภาคต่างๆ นั่นเอง”

หนังสือที่เราเคยอ่าน เช่น “จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ” และ “ข่ายใยแห่งชีวิต” ได้สะท้อนโลกทัศน์แบบองค์รวมที่ฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) นำไปพัฒนาเป็น “ระบบทัศน์แห่งชีวิต” (system view of life) ก็ดี และวิธีคิดกระบวนระบบ (system thinking) ที่ปีเตอร์ เซ็งเก้ ใช้อธิบายถึงการเปลี่ยนรูปของสังคม (social transformation) ก็ดี ล้วนมีหลักการเดียวกับอิทัปปจยตา ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยอยู่ที่การใช้ภาษาถ้อยคำและเทคนิคในการอธิบายเท่านั้น

ข้อที่สอง การอธิบายเรื่องหลักการของอิทัปปจยตาเป็นเรื่องไม่ยาก แต่การฝึกให้เรามีทักษะในการคิดเป็นองค์รวมและเห็นความเชื่อมโยง มองทะลุปรากฏการณ์ไปสู่สาเหตุที่แท้จริงเป็นเรื่องยาก บทเรียนจากการฝึกเรื่องวิธีคิดกระบวนระบบหรือ system thinking ได้พิสูจน์มาแล้ว เพราะคนธรรมดาทั่วไปคิดแบบแยกส่วนมานาน และการคิดแบบธรรมดายังอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย อันเป็นมูลฐานแห่งการสัมผัส ท่านพุทธทาสเห็นว่า “อายตนะต่างๆ เท่าที่เรามีนั้น อาจสัมผัสสิ่งต่างๆ ได้ภายในขีดอันจำกัด คือเท่าที่ประสิทธิภาพของมันพึงมี”

ดังนั้นการมองด้วยสายตาที่แหลมคมจนเห็น “การเชื่อมโยงที่ซ่อนเร้น” (hidden connection) ที่ ฟริตจอฟ คาปรา เขียนไว้จึงต้องอาศัย “ตาใน” หรืออินทรีย์พิเศษ อินทรีย์ขั้นพิเศษของท่านพุทธทาส คือ ปัญญา และตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ถูกควบคุมไว้ได้ภายใต้อำนาจของปัญญาอีกชั้นหนึ่ง แต่การที่เราจะเข้าถึงปัญญาที่ลึกซึ้งเช่นนี้ได้ ก็ต้องมีการปฏิบัติสมาธิให้จิตสงบแน่วแน่เสียก่อน

ข้อที่สาม การที่จะเข้าใจและรับมือกับโลกที่กำลังอยู่ในอันตรายได้นั้น จำเป็นจะต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่มีพลวัตสูง ต้องตระหนักว่าสิ่งที่เราเห็น เราเป็นอยู่ในวันนี้ วันพรุ่งก็จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็ได้ ในโลกยุคดิจิทัล ปัจจุบันเราสามารถเปลี่ยนเป็นอดีตในชั่วพริบตา ดังกรณีการพลัดพรากจากกันของครอบครัว การล้มครืนลงฉับพลันของธุรกิจและชีวิตชุมชน เมื่อครั้งเกิดคลื่นสึนามิ ที่พังงาและภูเก็ต

การเรียนรู้จากโลกที่จะผุดบังเกิด (emergence) จะต้องไม่ยึดมั่นอยู่กับทฤษฎีเก่าๆ และความคิดเก่าๆ ที่เชื่อตามกันโดยไม่ได้พิสูจน์ การทดลองค้นหาความจริงที่แท้นั้นต้องออกนอกกรอบของวิถีเดิมๆ ในหนังสือ “ภูมิปัญญาการนำทางสู่เนื้อธรรมของท่านพุทธทาส” ที่เขียนโดย อำนวย ยัสโยธา ได้อุปมาวิถีการค้นหาภูมิปัญญาแห่งอิสรภาพขั้นสูงสุดของท่าน ดุจดังนกนางนวล โจนาธาน ลิฟวิงสตัน ที่กล้าแตกฝูงไปพบโลกใหม่ด้วยความกล้าหาญที่ต้องการพิสูจน์ของสมมติฐานของตนว่าจะเป็นจริงหรือไม่ ด้วยการปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อยืนยันความเป็นวิทยาศาสตร์ และว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ผมคิดว่าท่านพุทธทาสมีจิตใจที่เปิดกว้าง เป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับสิ่งใดๆ ท่านจึงสามารถใช้ภาษาและความคิดใหม่ๆ ของศาสนาอื่น นิกายอื่น มาอธิบายธรรมะให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายดังตัวอย่างที่ท่านได้เขียนคำว่า โอปนยิโก ไว้ในสมุดบันทึกวันพุธที่ 26 มีนาคม 2495 ท่านตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้ “คำว่า โอปนยิโก ซึ่งเป็นคุณบทบทหนึ่งของพระธรรมนั้น พวกลังกาไม่ได้แปลว่าควรน้อมเข้ามาในตน เหมือนดังที่แปลกันในเมืองไทย แต่แปลว่า is free and open to all ว่าเป็นสิ่งที่ควรคิดดูอย่างยิ่ง”

การฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถและทักษะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ดังที่สรุปมาแล้ว ทั้งสามข้อน่าจะสร้างฐานกำลังของการรับมือกับโลกที่ปั่นป่วนและซับซ้อนได้

คัดจาก www.matichon.co.th
บทความพิเศษ โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์