เป็นการประยุกต์ที่แตกต่างกับวงการวิชาการโลกโดยสิ้นเชิง คือ ไม่พบการประยุกต์ในด้านวิทยาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์เลย แต่พบในด้านการอธิบายสังคม อนึ่ง การประยุกต์ใช้ทฤษฎีดังกล่าวในประเทศไทยมักเป็นไปอย่างหละหลวม กล่าวคือมักเป็นการหยิบยืมเอาเฉพาะแนวความคิดบางอย่างในทฤษฎีนี้ ไปจับกับสิ่งที่ต้องการศึกษา เช่น ระบบการเมือง หรือระบบสังคมเพื่อหามุมมองใหม่ หรือเพียงใช้ภาษาของทฤษฎีนี้เพื่อสื่อสารที่ตนต้องการจะสื่ออยู่แล้วออกมาในรูปใหม่ที่ทำให้คนฟังฉงนฉงายเท่านั้น การอ่านงานเหล่านี้จึงต้องอ่านอย่างยอมรับเงื่อนไขนี้ก่อน (มิฉะนั้นจะเกิดอาการหงุดหงิดอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับผม)ตัวอย่างของ การประยุกต์ทฤษฎีความโกลาหล ในการอธิบายสังคมไทยที่ผมพบในภาษาไทยได้แก่งานเขียนของ ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ และของยุค ศรีอาริยะในหนังสือ “ทฤษฎีความไร้ระเบียบ กับทางแพร่งของสังคมสยาม” ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ได้ยืมแนวความคิดจากทฤษฎีความโกลาหลมาวิเคราะห์สังคมไทย โดยถือตามแนวคิดของ Ervin Laszloว่า สังคมใด ๆ ล้วนเป็นระบบพลวัตรแบบห่างไกลความสมดุล ซึ่งน่าจะมีความหมายเหมือนกับระบบแบบโกลาหลที่เรากล่าวถึงข้างต้น อย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า เรายังไม่มีเครื่องมือทั่วไปใด ๆ ที่ช่วยตัดสินว่าระบบใดระบบหนึ่งเป็นระบบโกลาหลหรือไม่ การทึกทักว่าสังคมใด ๆ รวมทั้งสังคมไทยเป็นระบบแบบโกลาหล จึงเป็นการก้าวกระโดดทางความคิดที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน แต่ในเบื้องต้นเราอาจยอมรับมันไว้ก่อนเพื่อดูว่ามันจะนำไปสู่ข้อสรุปใดข้อสรุปหลักของชัยวัฒน์ก็คือ การชี้เตือนให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ภายใต้การโจมตีของคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงลูกต่าง ๆ ทั้งในระดับโลกและภายในสังคมไทยเอง ซึ่งทำให้สังคมไทยเข้าสู่สภาพโกลาหลและกำลังอยู่ในทางแพร่ง (bifurcation) (ทางแพร่งเป็นอีกแนวความคิดหนึ่งในทฤษฎีความโกลาหล) การตัดสินใจในอนาคตอันใกล้นี้จึงมีความสำคัญ อย่างไรก็ตามข้อสรุปนี้ไม่ได้มีเนื้อหาใหม่แต่อย่างใด และสามารถสื่อออกมาได้โดยภาษาทั่วไปโดยไม่ต้องอ้างอิงกับทฤษฎีโกลาหลเลยผมมีความเห็นว่าบทความดังกล่าวก็ยังมีประโยชน์ที่ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของทัศนะแม่บทของการคิดตามแบบเชิงเส้นและแบบกลไก เพราะทฤษฎีความโกลาหลทำให้เราตระหนักว่าธรรมชาตินั้นซับซ้อนเกินกว่าการคิดแบบเชิงเส้นจะสามารถทำความเข้าใจได้ แต่ปัญหาก็คือ ทฤษฎีความโกลาหลไม่ได้ให้ลายแทงแก่เราถึงวิธีการจัดการกับสังคมที่เป็นรูปธรรมเลย นอกจากย้ำถึงความสำคัญของการมองแบบไม่เป็นเชิงเส้น ไม่เป็นกลไก หรือที่เรียกว่ามองแบบองค์รวม เท่านั้นสิ่งที่ผมรู้สึกชอบมากที่สุดในผลงานดังกล่าวก็คือ แนวความคิดเรื่อง “จุดคานงัดของสังคม”ซึ่งทฤษฎีความโกลาหลช่วยชี้ให้เห็นว่า ในระบบที่ไวต่อสภาวะตั้งต้นนั้น การกระทำเพียงเล็กน้อยอาจเกิดสะเทือนมากได้ เหมือนกับผลกระทบผีเสื้อ หรือเหมือนกับการงัดเบาๆ คานก็อาจเคลื่อนไหวได้ หากเราสามารถรู้ว่า “จุดคานงัด” ดังกล่าวนั้นอยู่ที่ใด แนวความคิดนี้จึงเป็นการประกาศถึงศักยภาพของปัจเจกชน ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เพราะผลการกระทำของปัจเจกชนคนเดียว แม้เป็นเหมือนการกระพือปีกของผีเสื้อตัวเล็ก ๆ ก็ยังมีโอกาสทำให้ฝนตกได้ส่วนในบทความ “โลกาภิวัตน์ 2000 ว่าด้วยประวัติย่อทางเวลาสังคมศาสตร์” ของ ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ซึ่งใช้ในนามปากกาว่า “ยุค ศรีอาริยะ” การใช้คำว่า “ความโกลาหล” ในทฤษฎีความโกลาหลถูกแปรความหมายให้เหมือนกับคำว่า ความวุ่นวาย หรือมิกสัญญี ดังที่กล่าวว่า “ผมคิดว่าการเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคหลังอุตสาหกรรมนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่สภาวะห่งการไรระเบียบ (chaos) อย่างรุนแรง หรือที่คนไทยเรียกกันว่า กลียุค” หรือในประโยคที่ว่า“ปัจจุบันได้เกิดทฤษฎี chaos ขึ้นมาทฤษฎีนี้คาดเดาว่า โลกกำลังเคลื่อนตัวสู่วิกฤติที่รุนแรง” ซึ่งอ่านถึงตรงนี้ ผู้อ่านทุกท่านคงได้เห็นว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมาก จึงไม่จำเป็นที่จะต้องขยายความเพิ่มแต่อย่างใดได้โปรดเถอะ อย่านำ “มิคสัญญี” มาสู่ทฤษฎีความโกลาหลอันงดงาม ด้วยการประยุกต์ใช้แบบนสะเพร่าอีกต่อไปเลย!
เอกสารอ้างอิงโดย : ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์