ในหนังสือชื่อ “บันทึกนึกได้เอง” ที่ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ได้จัดพิมพ์ขึ้นด้วยการถ่ายสำเนาลายมือท่านพุทธทาสที่บันทึกไว้ในหนังสือไดอะรี่ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2495 ท่านได้เขียนว่า

“ครั้นบัดนี้โลกโคลง เร่าร้อนอย่างยิ่ง จนเราต้องเตรียมใจกันใหม่เพื่อรับหน้า”

ต่อมาวันที่ 16 เมษายน ท่านได้ตั้งคำถามว่า “โลกต้องการอะไรบ้าง เพื่อลดความเร่าร้อนรุนแรงให้เย็นลง” ซึ่งท่านได้วงเล็บภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย to cool the present turmoil

ในปีเดียวกันอีกนั่นเอง ท่านบันทึกไว้ในสมุดที่เป็นหน้าของวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2495 ท่านเขียนตัวโตไว้กลางกระดาษเพื่อย้ำความสำคัญเป็นอักษรพาดหัวใหญ่ว่า “โลกหมุนเร็วขึ้นทุกที ?” แล้วเสริมรายละเอียดข้อสังเกตด้วยลายมือของท่านเองดังนี้

“นักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะทาง physics ย่อมไม่เชื่อและเห็นด้วย แต่สำหรับนักธุรกิจ นักรัฐศาสตร์ หรือนักการเมือง และอื่นๆ อีกเป็นอันมากย่อมมองเห็นชัด และเชื่อว่าโลกหมุน “จี๋” ยิ่งขึ้นทุกที และจะหมุนเร็วขึ้นอีกจนละลายไป เพราะการหมุนเร็วเกินขอบขีดนั้นก็ได้”

นี่เป็นข้อห่วงใยที่ท่านพุทธทาสมีต่อโลกและมนุษยชาติ สิ่งที่ท่านได้เขียนเอาไว้และกล่าวไว้ในหลายๆ ที่ในเวลาต่อมา ไม่ได้ต่างไปจากช่วงเวลานั้นเลย

นักรัฐศาสตร์ นักธุรกิจและนักสังคมศาสตร์ ได้พูดถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วจี๋ โลกที่พึ่งพิงอิงกันและกัน เขย่ากันไปมาจนโคลงเคลงเสียศูนย์ เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง

แต่ท่านพุทธทาส ท่านได้ “เห็น” โลกหมุนจี๋ เมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว อัจฉริยะอันน่าอัศจรรย์ในการมองเห็นภาพใหญ่ของโลกได้อย่างถูกต้องของท่าน มีต้นตอหรือแหล่งที่มาจากแหล่งใด ?

ท่านพุทธทาสมีสายตาที่แหลมคมมองเห็นจุดเล็กนิดเดียวกับฝุ่นบางๆ ที่เกิดขึ้น ณ เบื้องขอบฟ้าอันไกลโพ้น แล้วท่านหยั่งรู้ได้ว่ามันนำไปสู่อะไร แค่เห็นเงื่อนไขเบื้องต้นเพียงนิดเดียวก็ประเมินผลลัพธ์ที่ใหญ่หลวงได้

นี่คือความหยั่งรู้ หรือญาณ หรือ sense ที่ชาร์ล แฮนดี้ พูดถึงใช่หรือไม่ ว่าเราต้องพัฒนาทักษะตัวนี้ขึ้นมาให้ได้เพื่อรับมือกับโลกปฏิทรรศน์

เรื่องที่ท่านพุทธทาสเขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2495 สังคมไทยย่อมตามไม่ทัน มองไม่เห็น และเข้าใจได้ยากเพราะล้ำสมัยมากๆ

ขณะนั้นเรายังไม่มีโทรทัศน์ดูกัน โทรศัพท์ยังมีกันไม่มาก เครื่องบินไอพ่นที่นำนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาประเทศไทยก็ยังไม่มี การทำมาค้าขายกับธุรกิจต่างประเทศก็ยังมีไม่กี่รายการ ไม่มี CNN ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีมือถือและ MTV เรายังปฏิสัมพันธ์กับโลกอย่างช้าๆ และเบาบาง ไม่เข้มข้น และถี่ยิบเป็นวินาทีดังตลาดหุ้นวันนี้ ในบริบทดังกล่าวเป็นเรื่องยากที่คนธรรมดาจะมีจิตนาการได้ลึก

เมื่อพิจารณาตามสภาพของโลกเครือข่ายในวันนี้ เรื่องที่ท่านพุทธทาสสอนเอาไว้จึงมีความหมายอย่างยิ่งยวดสำหรับคนไทยในปัจจุบันและอนาคตไปอีกหลายสิบปี

เราจำเป็นจะต้องศึกษาค้นคว้าสิ่งที่ท่านได้บรรยายเอาไว้ในที่ต่างๆ และเวลาต่างๆ อย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วย

มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วไปจะเข้าใจ “ความรู้” บางเรื่องที่ล้ำลึกและมาก่อนกาล ต้องใช้เวลานานกว่า ดูกรณีทฤษฎีสัมพันธภาพ (rela

tivity theory) ของไอน์สไตน์ ซึ่งถูกเสนอเมื่อปี 2448 กว่านักฟิสิกส์จำนวนมากจะเข้าใจและพิสูจน์ได้ว่าจริงก็ผ่านไปหลายสิบปี

“บันทึกนึกได้เอง” ของท่านพุทธทาส เมื่อปีพุทธศักราช 2495 ที่เตือนเรื่องโลกโยกโคลง และหมุนเร็วจี๋เกินขอบเขต กว่าที่คนทั่วไปจะตระหนักและเตรียมรับมือกับมันย่อมต้องใช้เวลาเช่นกัน

คัดจาก www.matichon.co.th
บทความพิเศษ โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์