การฝัน คือ การนึกเห็นเป็นเรื่องราวในขณะหลับ ขณะฝันจะรู้สึกว่าสิ่งที่เห็น หรือสัมผัสนั้น เหมือนจริงหรือเกินจริง เราทุกคนต่างเคยฝันกันทั่วหน้า ในระหว่างการหลับตามธรรมดาแต่ละคืน คนเราฝันกันคืนละ 4-5 เรื่อง จนถึงนับครั้งไม่ถ้วน เมื่อรวมตลอดชั่วชีวิตแล้ว อาจรวมได้เป็นแสนครั้ง
เหตุการณ์ในความฝันอาจจะดูยาวนานหลายชั่วโมง หรืออาจยาวเป็นวันๆ แต่จากการวิจัยพบว่าความฝันส่วนใหญ่จะกินเวลาเพียง 2-3 วินาที ไปจนถึงนานที่สุดไม่เกิน 40 นาที โดยประมาณ ในความฝันจะอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวเราเอง ชีวิตของเรา ความสามารถของเรา และความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ
จากการศึกษาวิจัยเรื่องการหลับของมนุษย์โดยใช้เครื่องตรวจคลื่นสมอง (Electroencephalography – EEG) บันทึกคลื่นสมองที่เกิดขึ้นระหว่างหลับ พบว่า คลื่นสมองในขณะหลับมีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งอาจแบ่งการหลับได้เป็น 4 ระยะ คือ ระยะงัวเงีย ระยะหลับตื้น ระยะหลับสนิทหรือหลับลึก และระยะก่อนตื่น
การศึกษาพบว่า มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างหลับตื้นกับหลับลึก เป็นการสั่นไหวอย่างเร็วของลูกตา เรียกว่า REM (Rapid Eye Movement) บางคนจึงแบ่งการหลับออกเป็น 2 ชนิด คือ REM Sleep และ Non-REM Sleep
ช่วงเวลาที่คนเราฝันบ่อยที่สุด ก็คือช่วงระหว่างหลับตื้นและหลับลึก หรือ REM Sleep นี่เอง และ 80-90% จะจำความฝันนั้นได้
บางคนที่คิดว่าตนไม่เคยฝัน ก็เพราะความฝันของบางคนเป็นเรื่องเบาบาง สมองจึงไม่บันทึกไว้ให้เปลืองเนื้อที่ ถ้าฝันแล้วตื่นขึ้นทันที ก็ยังพอจะจำได้ แต่ถ้านานไปก็จะลืม จนบางคนคิดว่าไม่ได้ฝัน
จากการศึกษาพบว่าคนส่วนมากมักจำความฝันไม่ค่อยได้หรือจำได้ก็ไม่นาน ตกๆ หล่นๆ ไม่ปะติดปะต่อ ที่ฝันเป็นเรื่องเป็นราวเห็นจะมีแต่ในนิยายหรือแต่งเติมเอาเองทั้งนั้น นักประสาทสรีรศาสตร์กล่าวว่าการบันทึกความจำอะไรก็ตาม เกิดขึ้นได้จากการจับตัวกันของเซลล์สมอง ความฝันทั่วไป เซลล์สมองจับกันไม่แน่น ไม่นานก็คลายหลุด เราจึงลืมความฝันนั้น แต่ถ้าเป็นความฝันที่ประทับใจหรือตื่นเต้นน่ากลัว เซลล์สมองจะจับกันแน่น ทำให้จดจำอยู่ได้นาน
ความฝันที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการหลับ มักจะถูกลืมบ่อยกว่าความฝันที่เกิดขึ้นเมื่อใกล้ตื่นหรือฝันจนตื่น และคนที่หลับสนิทจะฝันน้อยหรือจำความฝันได้น้อย หรือไม่รู้สึกว่าฝันเลย แต่ถ้าหลับๆ ตื่นๆ มักจะจำความฝันได้มาก
ความฝันแม้จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดกับทุกคน แต่สำหรับผู้ที่กินยานอนหลับจนหลับสนิท จะไม่ฝัน เพราะระยะต่างๆ จะผ่านไปอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่ระยะหลับลึก แต่พอยาหมดฤทธิ์ใกล้ตื่น อาจจะฝันได้ และส่วนมากเป็นฝันร้ายเสียด้วย
มีการถกเถียงกันมานานว่าจริงๆ แล้วความฝันของคนเรามีสีสันหรือเป็นภาพขาวดำกันแน่ กล่าวกันว่า ความฝันโดยทั่วไปมักเป็นคล้ายหนังขาวดำ ภาพในฝันก็มักมัวซัวไม่ชัดเจน ถ้ามีสีก็มักเป็นสีเข้ม เช่น แดงเข้มหรือน้ำเงินเข้ม นอกจากฝันว่าไฟไหม้เท่านั้น จึงจะเห็นแสงสว่างจ้า
ผลงานวิจัยจาก University of Dundee ประเทศสกอตแลนด์ พบว่า ผู้ใหญ่วัย 55 ปีขึ้นไป ที่เติบโตมาในยุคหนังขาวดำ มักเห็นภาพฝันเป็นสีขาวดำ ขณะที่คนอายุต่ำกว่า 25 ปีที่คุ้นตากับทีวีสีมักฝันเห็นเป็นสีสัน
ส่วนใหญ่ความฝันจะอยู่ในรูปของการเห็น รองลงมาคือการได้ยิน การสัมผัส และความเจ็บปวด ที่พบน้อยมากคือ ฝันในรูปของการได้ลิ้มชิมรสและการได้กลิ่น
ความฝันอาจจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นกับตนเองหรือสิ่งแวดล้อม หญิงตั้งครรภ์ในระยะแรกๆ อาจจะฝันบ่อยและฝันแปลกๆ จนบางครั้งการฝันที่เพิ่มขึ้นมากก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการวินิจฉัยว่าหญิงนั้นเริ่มตั้งครรภ์ได้ ทั้งๆ ที่ประจำเดือนยังไม่ขาด อาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ โดยเฉพาะที่ทำให้ต้องตื่นกลางดึกบ่อยๆ มักทำให้ฝันบ่อยหรือจำความฝันได้มากขึ้น และมักจะเป็นฝันร้าย ความอัดอั้นทางกายบางอย่างก็ทำให้ฝันได้ เช่น ฝันเปียก หรือฝันว่าได้ร่วมเพศ บางคนฝันว่าไปห้องน้ำเพื่อถ่ายปัสสาวะ เมื่อตื่นขึ้นมาก็มักจะพบว่ากำลังปวดปัสสาวะอยู่ หรืออาจถ่ายรดที่นอนไปแล้วก็ได้
ความคิดเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของการฝันมีหลากหลาย นักจิตวิทยาบางคน เชื่อว่า ความฝันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เราฝันเพื่อปลดปล่อยความกลัดกลุ้มหรือความเครียด คนเราเมื่อมีปัญหารุมเร้าแก้ไม่ตกจนเกิดอาการนอนหลับไม่สนิท ถ้าได้ฝันเสียบ้างจะรู้สึกผ่อนคลายลงได้ บางคนก็บอกว่าความฝันเป็นเพียงวิธีที่จิตของเราใช้ปลดปล่อยเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งในแต่ละวัน
บางคนก็ว่าความฝันเป็นเพียงคำพูดที่ปราศจากความหมายของจิตใจ แต่ก็มีหลายคนที่เชื่อว่า ความฝันคือข่าวสารที่ส่งมาจากจิตใต้สำนึก เพื่อกระตุ้นให้เราสนใจพิจารณาเรื่องต่างๆ บางครั้งมันจะเปิดเผยความขัดแย้งที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ กล่าวไว้ว่า ความฝันที่เราไม่เข้าใจ ก็เปรียบได้กับจดหมายที่ยังไม่ได้เปิดอ่าน ซึ่งก็หมายถึงข่าวสารที่มาจากจิตใต้สำนึก ที่เราไม่มีโอกาสได้รับนั่นเอง
นักจิตวิเคราะห์บางกลุ่มจึงให้ความสำคัญกับการแปลความหมายของความฝันอย่างมาก และเชื่อว่าจิตใต้สำนึกจะส่งสิ่งเตือนใจมาให้เราอย่างต่อเนื่อง ในรูปของความฝันที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงจำเป็นต้องให้ความสนใจกับความฝันของตนเองบ้าง เผื่อจะรู้จักและเข้าใจตัวเองดีขึ้น ไปจนถึงแก้ปัญหาต่างๆ ที่ค้างคาอยู่ได้