เหมือนว่าข้อมูลใหม่จะไหลมาเทมาให้เราต้องทำความรู้จักกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนหลายคนกำลังประสบปัญหาว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชื่อเสียงเรียงนาม วันที่ หรือวิธีทำงาน เหล่านั้น จะจดจำลงในสมองได้หมดได้อย่างไร

“สมอง” ที่อาจจะไม่ค่อยมีที่ว่างพอเพียงให้อัดข้อมูลใหม่ลงไปได้สักเท่าไรนัก

โชคร้ายตรงที่เราไม่มี “เอ็กซ์เทอร์-นัลฮาร์ดไดรฟ์” หรือหน่วยจัดเก็บข้อมูลภายนอกอย่างที่คอมพิวเตอร์มี อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า คนเราสามารถจะกระตุ้นหรือปรับปรุงความทรงจำให้ดีขึ้นได้

วิธีช่วยจำ อย่างหนึ่งก็คือ ถ้าหากไม่อยากจะลืมสิ่งที่เรียนรู้ไปในวันนี้ ก็จงเข้านอนเสีย การได้นอนสักพัก ถ้าจะให้ดีอาจจะในราว 90 นาที จะเป็นการช่วยบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างวันขึ้นได้ ทีนี้เมื่อได้เข้านอนตอนกลางคืน สมองก็จะสร้างความทรงจำของเหตุการณ์ในวันนั้นขึ้น

แต่การใช้สมองอย่างหนักกับความทรงจำระยะยาว อาจทำให้ต้องผจญกับความทรงจำที่มีต่อเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดหลายชิ้น พบว่าความทรงจำของแต่ละคนนั้น สามารถจะปรับปรุงหรือกระตุ้นให้ดีขึ้นได้ โดยอาศัยปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ได้แก่ การฟังดนตรี การปรับปรุงนิสัย และการคิดมองโลกอย่างเด็กๆ ก็มีส่วนช่วยได้ไม่น้อย

ดูแล้วก็ไม่หมดหวังเสียทีเดียวที่เราจะมากระตุ้นความทรงจำให้ปิ๊งปั๊ง มีพลังขึ้นมาใหม่ ได้อีกหน
   
 
แกง กระตุ้นความจำ

เครื่องเทศสำคัญในแกงเหลืองอย่าง “ขมิ้น” สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคทางประสาทและลดผลกระทบจากโรคเกี่ยวกับระบบเส้นประสาท อย่างอัลไซเมอร์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้นักวิจัยยังยืนยันถึงประสิทธิภาพยอดเยี่ยมของเครื่องเทศในการต่อสู้กับปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ศัตรูร้ายทำลายเซลล์สมองโดยเฉพาะในหน่วยความจำ เมื่อเราอายุมากขึ้น ปฏิกิริยาออกซิเดชั่นจะโจมตีเซลล์สมองมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่เปราะบางและไวต่อการถูกทำลายจากปฏิกิริยาดังกล่าวมากกว่าส่วนอื่นๆ

สมองจำต้องสร้างยีนที่ชื่อว่า Hemeoxygenase-1( HO-1) ขึ้นมาเพื่อต่อกรกับออกซิเดชั่น และยีนตัวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมองถูกกระตุ้นเท่านั้น และสารกระตุ้นดังกล่าวก็พบมากในขมิ้นนั่นเอง นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคาตาเนียในอิตาลี และนิวยอร์กยืนยันถึงประสิทธิภาพของสารสำคัญในขมิ้นที่มีผลต่อการกระตุ้นยีน HO-1 ว่าช่วยยับยั้งไม่ให้เซลล์สมองถูกทำลายโดยออกซิเดนท์ได้เป็นอย่างดี
เมื่อสมองเกิดสภาวะออกซิเดชั่น เซลล์สมองจะเกิดการอักเสบและค่อยๆ ตายไปในที่สุด ส่งผลให้เซลล์เนื้อเยื่อของเส้นประสาทถูกทำลาย และนำไปสู่โรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ขมิ้นจึงไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังบำรุงสมองเราให้เฉียบคมตามอายุที่เพิ่มขึ้นได้อีกด้วยในประเทศอินเดีย แหล่งเครื่องเทศสำคัญของโลกและนิยมใช้ขมิ้นเป็นส่วนประกอบอาหารมีการทดลองเพื่อค้นหาคุณประโยชน์ของขมิ้นที่นอกเหนือไปจากสรรพคุณในการลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์อย่างกว้างขวาง และพบว่าสารแอนตี้ออกซิเดนท์ในขมิ้นเป็นกุญแจสำคัญในการถนอมอาหาร นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เมนูอาหารแต่โบราณหลายๆ จานมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบ อีกทั้งยังได้สี กลิ่น และรสชาติเป็นของแถม

บรรดาเครื่องเทศต่างๆ นั้นมีสารปฏิชีวนะป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในอาหารได้มากกว่า เจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ เม็ดสีในเครื่องเทศ คือ ส่วนที่มีสารปฏิชีวนะดังกล่าว นักวิจัยจากศูนย์โรคอัลไซเมอร์แห่งมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ ระบุว่า ขมิ้นมีสารสำคัญที่ไม่พบในเครื่องเทศชนิดอื่นในการยับยั้งไม่ให้ไม่ให้เกิดกลุ่มก้อนโปรตีนเล็กๆ ในสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เรียกว่า Amyloid Plaques โดยสารในขมิ้นจะเข้าผ่ากลางกลุ่มโปรตีนดังกล่าวไม่ให้รวมตัวกัน

ดร. Sally Frautschy ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชาแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอแนะนำให้รับประทานขมิ้นให้ได้ 200 มิลลิกรัมต่อครั้ง อาทิตย์ละสี่ครั้งก็ถือว่าเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย ขณะเดียวกัน เรายังพบสารแอนตี้ออกซิเดนท์ในเครื่องเทศชนิดอื่นอย่าง “ขิง อบเชย” ซึ่งให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับขมิ้น รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์สมองได้เป็นอย่างดี
รู้อย่างนี้แล้ว มื้อต่อไปต้องมีแกงขึ้นสำรับแล้วล่ะค่ะ
 
 
กาแฟ กระตุ้นความจำ

กาแฟกระตุ้นความจำ และสมาธิ

นักวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ว่า ความเชื่อของบรรดาคอกาแฟว่า สารคาเฟอีนในกาแฟ มีฤิทธิ์ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นได้เป็นความจริง

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแพทย์อินน์สบรัค ของออสเตรีย ได้พบในการศึกษาว่าไม่ว่ากาแฟ ชา ช็อกโกแลต และน้ำอัดลม ต่างมีสรรพคุณกระตุ้นส่วนความจำระยะสั้น และการใช้สมาธิในสมองขึ้นได้ พวกเขาได้ศึกษาอาสาสมัครที่เพิ่งซดกาแฟเข้าไป 2 ถ้วยซ้อน คิดเป็นปริมาณคาเฟอีนได้สัก 100 มิลลิกรัม ด้วยเครื่องวัดสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก พบว่าสมองตรงแถบหน้าผาก ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับความจำและบริเวณอันควบคุมสมาธิ ได้แสดงปฏิกิริยาแข็งขันขึ้น “เราเห็นได้ว่าฤทธิ์ของคาเฟอีนไปทำให้บางส่วนของสมอง มีการทำงานของหน่วยประสาทเข้มแข็งขึ้น” ดร.ฟลอเรียนคอปเปลสตัตเตอร์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

อาสาสมัครซึ่งอดกาแฟมาก่อนนาน 12. ชม ได้แสดงให้เห็นว่ามีความจำดีขึ้นหลังจากกินกาแฟ โดยสามารถจำข้อความยาวๆ ติดต่อกันเป็นแถวได้แม่นขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ