โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=wbj&group=5

คนเรามีพฤติกรรมที่คล้ายๆกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ อะไรก็ตามที่ตรงกับ ความเชื่อและความรู้สึกของตนเอง จะทำให้เขายอมรับได้รวดเร็วขึ้น การที่ใครก็ตามสามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ได้ตรงกับความเชื่อ และ ความรู้สึกของอีกคน คนๆนั้น ก็จะสามารถพูดคุย สื่อสาร และ เข้ากันได้กับอีกคนอย่างไม่ต้องสงสัย… ดังนั้น ถ้าเราสามารถเปิดประตูใจของเขาได้ หรือ ทำให้ตรงกับความเชื่อ ความรู้สึกของเขาได้ แล้ว เราก็จะสามารถที่จะโน้มน้าว หรือ ผลักดันให้เขาเหล่านั้นทำในสิ่งที่ถูกต้อง และ ดีสำหรับเขาได้เช่นกัน

บางคนมีความสามารถในการเปิดใจคนอื่นได้เก่ง ไม่ว่าไปคุยกับใครก็สามารถเปิดใจคนๆนั้นได้อย่างง่ายดาย แต่หากเอาความไว้วางใจของเขาไปใช้เพื่อก่อประโยชน์กับตนเองเพียงฝ่ายเดียว ก็จะพบว่า เริ่มแรกเขาอาจจะเปิดใจให้ แต่เมื่อนานๆไป เมื่อเขาเปิดใจแล้ว แต่กลับไม่ได้ความจริงใจกลับมา หรือ พบว่า คุณหวังแต่ผลประโยชน์จากเขาเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น เมื่อเขาเปิดใจได้ เขาก็ปิดใจได้เช่นกัน

หากต้องการที่จะให้ใครก็ตามมีการเปิดใจ อย่างยั่งยืน หรือได้นานมากที่สุด การทำให้เขาเห็นว่า การกระทำต่างๆของเรา หรือ การที่เราต้องการให้เขาทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างที่เราแนะนำนั้น ก็เพื่อประโยชน์สำหรับเขาไม่ใช่เพื่อเรา และ ถ้าเขารับรู้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้น จะเป็นผลดีกับเขามากเท่าใด เขาก็จะยิ่งทำเพื่อตัวเขามากขึ้นเท่านั้น การเปิดใจของเขากับคำแนะนำของเรา ก็จะมีมากขึ้นตามความปราถนาดีของเราด้วย

การใช้งานคนและทักษะการโน้มน้าวคนให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงขึ้นอยู่ที่ เราสามารถที่จะสอดแทรกผลประโยชน์ขององค์กร กับ ผลประโยชน์ของผู้ปฏิบัติ ได้สอดคล้องได้มากน้อยเพียงใด ถ้าหากเราสามารถทำให้สอดคล้องเป็นไปอย่างธรรมชาติ และ จริงใจ ก็จะสามารถผสานให้ทั้งสองเรื่องหรือหลายๆเรื่องให้เป็นเรื่องเดียวกัน ผลประโยชน์ก็จะอยู่กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และ ได้รับสิ่งที่ต้องการตอบแทนไปทุกๆฝ่าย

แต่หากเราไม่สามารถที่จะเปิดใจเขาได้ ก็เท่ากับว่า เขาไม่ยอมรับในสิ่งต่างๆที่เราหยิบยื่นให้ หรือ เขาอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่เราหวังดีไป หรือ สิ่งที่เราให้นั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ ไม่ว่าจะเอาอะไรให้เขา เขาก็ไม่ทำ หรือ อาจจะทำเพราะเกรงกลัว หรือ เกรงใจ ทั้งนี้ เมื่อใจไม่ยอมรับ การกระทำที่ส่งออกมาก็จะไม่ยอมรับอยู่ดี แล้วอย่างนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ จะมีคุณภาพได้อย่างไร

แล้วคำถามที่จะตามมาก็คือ “เราจะเปิดใจคนอื่นได้อย่างไร?”

คนไทยเป็นคนมีนิสัยโอบอ้อมอารีย์ นิสัยนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ไม่ใช่ทุกคนเสมอไปที่จะมีนิสัยเช่นนี้ แต่เราจะพบเห็นบ่อยๆว่า คนที่มีความโอบอ้อมอารีย์นั้น จะมีพลังใจการเปิดใจคนอื่นได้มากกว่าคนทั่วไป…

มีเรื่องในเมล์ที่ส่งมาให้ผมว่า มีวิทยากรท่านหนึ่ง เขาท้าทายให้คนรับการสัมมนา ว่าให้พยายามทำให้เขาจากกำมืออยู่ ให้แบบมือออก หลายต่อหลายคน พยายามง้าง แกะ แงะ ใช้แรงเพื่อให้ วิทยากรท่านนั้น แบบมือออก และ ไม่เป็นผลสำเร็จ แต่เมื่อท้ายสุด ก็มีท่านหนึ่งเดินเข้าไปและยกมือไหว้ ทำให้วิทยากรท่านนั้น รับไหว้… ซึ่งจะเห็นว่า วิทยากรท่านนั้น ไม่ได้กำมืออีกแล้ว… มันเป็นเรื่องที่อธิบายถึงการใช้ความอ่อนสยบความแข็งได้อย่างดี เราสามารถใช้ความโอบอ้อมอารีย์ของเราเพื่อใช้เปิดใจของอีกฝ่ายได้เสมอ

การให้อย่างจริงใจ จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้อีกฝ่าย เปิดรับได้ดี และ เปิดได้นานตราบเท่าที่เรายังให้อย่างจริงใจอยู่เสมอๆ ดังนั้น ถ้าต้องการให้เขาเปิดใจ การให้อย่างจริงใจ ก็จะเปรียบเสมือลูกกุญแจที่มีพลังอย่างมากในการนำมาเปิดใจเขาเหล่านั้น..

การตอบสนอง การตอบสนองความต้องการของอีกฝ่าย ก็เป็นการให้ที่มุ่งเน้นถึงความต้องการของผู้รับเป็นสำคัญ ดังนั้น การศึกษาอีกฝ่ายว่าต้องการสิ่งใดจริงๆ และ ให้ความหวัง หรือ หาแนวทางเพื่อให้เขาบรรลุในสิ่งที่เขาหวังได้ ถึงแม้นจะยังไม่ได้ ณ เวลานี้ แต่ก็เห็นแนวทางในการได้รับการตอบสนองในสิ่งนั้น เปรียบได้กับรอยหยักของกุญแจ ที่พอดีกับแม่กุญแจเพื่อใช้สำหรับเปิดใจ เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน

หวังว่า ผู้บริหารทุกท่านจะสามารถสร้างลูกกุญแจ ที่เหมาะสมกับองค์กร และ สามารถเปิดใจของทีมงาน เพื่อไขไปสู่ความสำเร็จ ทั้งทีมงาน และองค์กรไปได้พร้อมๆกันนะครับ