เมื่อไม่นานมานี้ มีนักเขียนหนุ่มชาวอินเดีย ชื่อ ซาอิด ฮัสซัน (Zaid Hassan) ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่ง ชื่อ “อักษรยู : ภาษาแห่งการฟื้นฟูพลัง” (The U : Language of Regeneration) เขาพูดถึงความจำเป็นที่มนุษย์ในปัจจุบันต้องสนใจฝึกฝนตนเองให้มีวิธีมอง “แบบใหม่” เพื่อทำให้มีสายตาที่แหลมคม (insight) “วิธีมองแบบใหม่” นี้เป็นสิ่งที่ผู้รู้หรือนักปราชญ์ในอดีตสามารถทำได้เป็นกิจวัตร ซาอิดบรรยายถึงความสำคัญในการใช้ทักษะนี้พินิจพิจารณาโลก เพราะโลกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงพลิกผันเร็วจี๋อย่างไม่มีใครคาดเดาได้ เปรียบเสมือนว่าเรากำลังเผชิญสัตว์ร้ายที่คาดเดาอารมณ์มันไม่ถูก เมื่อเราเผชิญหน้ากับสัตว์ร้ายตัวนี้ เราก็ต้องรับมือกับมันให้ได้

อุปมาอุปไมยที่ซาอิดยกขึ้นมาใน พ.ศ.2548 นั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวเอาไว้เมื่อหลายสิบปีมาแล้วว่า เราต้องระวัง “เขี้ยวของโลก” อย่าให้เขี้ยวของโลกมาขบกัดเราได้ เราต้องทำตัวเสมือนลิ้นงูที่อยู่ได้ในปากงูโดยไม่ถูกเขี้ยวงูทำร้าย

ชีวิตประจำวันของเราคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯหรือหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงล้วนมีโอกาสถูก “เขี้ยว” ของโลกขบกัดได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอันตรายฉับพลันจากธรรมชาติ จากอาชญากรรม จากโรคระบาด จากอุบัติภัย ทุพภิกขภัย และภัยจากโรคระบาด หรือโอกาสของการพลิกผันของสถานการณ์ธุรกิจและการเมืองเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในระยะสิบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการล้มระเนนระนาดของเผด็จการในประเทศต่างๆ เช่น ในอดีตประเทศที่เคยอยู่กับสหภาพโซเวียตมาก่อน

ไม่เพียงแต่การล่มสลายของระบบการเมืองผูกขาด บรรษัทใหญ่ๆ ของโลกที่นิตยสารธุรกิจเคยยกย่องว่ามีอำนาจและอิทธิพลไปทั่วโลก เช่น Enron, WorldCom หรือ Adelphia ความมั่นคงแข็งแรงทางธุรกิจล้มครืนลงชั่วข้ามคืน และผู้บริหารบรรษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็ถูกจับในฐานะอาชญากรทางการเงิน

ข้อมูลที่ผ่าน BBC หรือ CNN หรือผ่านอินเทอร์เน็ตก็ดี ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ดี ล้วนสร้างบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจไปทั่วโลก เมื่อ 2-3 ปีก่อนสหประชาชาติได้ตำหนิ 85 บรรษัทใหญ่ที่ได้มีส่วนร่วมในการ “ปล้น” ทรัพยากรธรรมชาติในคองโก และเมื่อรายงานทางด้านเศรษฐกิจฉายข้อมูลออกมาว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยที่มีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์กับคนจนกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละประเทศได้ถ่างกว้างออกไปอีก แล้วยังมีข่าวที่ไมเคิล ไอส์เนอร์ (Michael Eisner) ซีอีโอแห่ง บริษัทดิสนีย์ มีรายได้ถึง 576 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,040 ล้านบาท) ย่อมสร้างความขุ่นเคืองให้ผู้คนทั่วไป แม้กระทั่ง อลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) นายใหญ่แห่งธนาคารกลางสหรัฐ ยังเอ่ยปากตำหนิบรรดาซีอีโอใหญ่ๆ ทั้งหลาย “โรคไวรัสแห่งความโลภได้ระบาดในโลกธุรกิจเสียแล้ว”

การเคลื่อนไหวประท้วงองค์กรที่โลกเห็นแก่ได้ และขาดธรรมชาติ บางทีปรากฏถี่ขึ้นในสังคมตะวันตก เช่น เมื่อ 10 ปีก่อน กลุ่มกรีนพีซได้นำประชาชนในยุโรปตะวันตกประท้วงกรณี Brent Spar ทำให้บริษัทเชลล์ต้องประสบความเสียหายทางธุรกิจน้ำมัน ต่อมากลุ่ม Free Burma Coalition ก็บีบบริษัทใหญ่ของสหรัฐอเมริกาต้องถอยออกจากพม่า และเครือข่าย Rain Forest Action Network รณรงค์คัดค้านบริษัทค้าไม้ Home Depot จนทำให้ต้องปรับนโยบายใหม่

การประท้วงของกลุ่มพลเมืองที่รักความเป็นธรรมและต้องการสันติภาพต่อธุรกิจที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมมีถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยพุ่งเป้าเข้าสู่ความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ขององค์กร เมื่อปี 2546 และ 2547 ได้มีการประชุมเครือข่ายรากหญ้าที่นิวยอร์ก เรื่อง Brand Bashing Culture Jamming และ Subvertising การบ่อนเซาะภาพลักษณ์ของธุรกิจไม่อาจประมาทคนรากหญ้าได้เลย

ถึงแม้กลุ่มคนที่เอาการเอางานจะมีไม่มาก แต่พลังของพวกเขาอยู่ที่ระบบ IT ดังเช่น walmartwatch.com, chasebanksucks หรือ McSpotlight เมื่อเรื่องราวได้ถกกันมากใน “ห้องสนทนา” เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ การกระจายข่าวของผู้บริโภคสู่พนักงานบริษัท ไปยังนักข่าวแล้วกระจายออกสื่อสารมวลชน มันก็กลายเป็นแรงกดดันมหาศาลไปทั้งโลก กลุ่มนักกิจกรรมพูดว่า “ธุรกิจมีชีวิตและตายด้วยภาพลักษณ์” จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่ชนชั้นนำทั้งหลายเมื่อพบกันใน World Economic Forum ที่ Davos เมื่อปี 2003 จึงตั้งหัวข้อสนทนาว่า “การฟื้นฟูความเชื่อมั่น” (rebuilding trust)

ถ้ากวาดสายตาให้กว้างออกไปทั้งโลก จะพบว่าการฟื้นฟูความเชื่อมั่น มันไม่ได้จำกัดตัวอยู่ในภาคธุรกิจเท่านั้น ภาคการเมืองก็มีปัญหาหนักหน่วงไม่แพ้กัน งานวิจัยของโรเบิร์ต พุตนัม (Robert Putnum) ที่ได้ตีพิมพ์เมื่อปี 2539 พบว่าประชาชนในประเทศประชาธิปไตยมีความไว้วางใจพรรคการเมืองและนักการเมืองของตน น้อยกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วมาก นักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาเลียนชื่อ อันโตนิโอ โปลิโต (Antonio Polito) ได้เกริ่นนำในหนังสือ “การสนทนาว่าด้วยวิกฤตประชาธิปไตย” ปี 2546 ว่า “หลังจากที่ได้ผ่านการทดสอบมาร่วมสองร้อยปี ระบอบประชาธิปไตยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนักหน่วง จึงไม่รู้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร”

การหาทางออกที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีการ “ย้ายกระบวนทัศน์ใหม่” (paradigm shift) ทั้งในระดับปัจเจกและระดับองค์กรหรือสถาบัน (institution) ความสนใจเรื่องการพัฒนาองค์กรและสถาบันที่ไม่ได้เป็นเครื่องจักร แต่เป็นเรื่องของความลึกซึ้ง ด้านความหมายแห่งชีวิตและคุณค่าแห่งความ เป็นมนุษย์ได้เริ่มก่อร่างสร้างตัวอย่างเป็นกิจจะ ลักษณะ เมื่อ ชาร์ลี คีเฟอร์ (Charly Kiefer) และ ปีเตอร์ เซงเก้ ได้เขียนบทความที่กลั่นออกมาจากงานเป็นที่ปรึกษาและจัดสัมมนาปฏิบัติการตอนปลายทศวรรษที่ 70 ว่าด้วย “องค์กรเมทาโนอิก” (metanoic organization) คำว่า เมทาโนอิก เป็นภาษากรีก แปลว่า “การเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของจิต” (fundamental shift of mind) ซึ่งต่อมาชาวคริสเตียนยุคต้นได้ให้การอรรถาธิบายใหม่จากมุมของตนว่า เป็นการ “ตื่นแห่งศรัทธา” ซึ่งเห็นความสำคัญของวิสัยทัศน์และการมีคุณค่าแห่งชีวิต องค์กร “เมทาโนอิก” จึงไม่เพียงดำรงอยู่เพื่อทำเป้าหมายขององค์กรให้เป็นจริงเท่านั้น ทว่าต้องรับใช้สังคมด้วย

เมื่อปีเตอร์ เซงเก้ ได้อาศัยข้อมูลและผลวิจัยจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่ได้ทำมากว่าสิบปีแล้วลงมือเขียนหนังสือ The Fifth Discipline (วิชาที่ห้า) เขาพบว่าคำว่า discipline ซึ่งแปลว่าวิชาหรือวินัยนั้น มีนัยซ่อนอยู่ การที่เราจะเชี่ยวชาญวิชาใดวิชาหนึ่งนั้นจำเป็นต้องมีวินัยในการเรียนรู้และวินัยในการปฏิบัติ ดังชื่อในการสอนในวิชาศิลปะ หรือในศาสนา ที่มนุษย์จะบรรลุเป้าหมายที่ปรารถนาได้ ต้องมีวินัย ต้องฝึกฝนตนเองอย่างเข้มงวด

สิ่งที่ปีเตอร์ เซงเก้ ค้นพบจากงานฝึกอบรมและสัมมนาก็คือ การสร้างองค์กรเรียนรู้ (learning organization) หรือประชาคมแห่งการปฏิบัติ (communities of practice) นั้น ล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องการเจริญสติและมีสมาธิ ยกตัวอย่างเช่น การทำ “ภาวนาสนทนา” (dialogue) ในกลุ่มจะต้องมีความเงียบเพื่อครุ่นคิดลึกๆ สำรวจความรู้สึกนึกคิดของตนเอง การฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการนิ่งอยู่ในความเงียบ และสงบจิตสงบใจ ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญของการบริหารจัดการสมัยใหม่ในโลกที่มีพลวัต ซับซ้อน

ในขณะที่การบริหารจัดการเริ่มมีการย้ายกระบวนทัศน์ ก็มีปรากฏการณ์คู่ขนานที่น่าสนใจเกิดขึ้น คือนับแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา นั่นคือ การสร้างความรู้และปฏิบัติการเรียนรู้ภาคการบริหารจัดการ ได้นำความรู้ของวิทยาศาสตร์ใหม่ (new science) เช่น ทฤษฎีไร้ระเบียบ ทฤษฎีซับซ้อน (complexity theory) มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรที่ให้ความสำคัญของพลังจิตวิญญาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ในห้วงเวลาเดียวกันก็ได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองและค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ใหม่กับพุทธศาสนาถี่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราสามารถหาอ่านได้จากหนังสือหลายเล่ม เช่น The Lotus and Quantum, Buddhism and Breaking New Ground และ The Psychology of Awakening : Buddhism, Science and Our Day to Day Lives เป็นต้น

ในการสนทนาระหว่างภูมิปัญญาลึกล้ำของตะวันออกกับวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น ทางฝ่ายพุทธศาสนามีท่านดาไลลามะเป็นผู้นำ และบางครั้งก็มีตัวแทนของไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนด้วย

ตัวท่านพุทธทาสเองได้ศึกษาวิทยาศาสตร์ใหม่มาด้วยตนเองและสามารถนำไปใช้ในการอธิบายเรื่องอิทัปปจยตามาแล้ว เมื่อท่านได้พูดถึง “ทฤษฎีของสี” ระหว่างปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” ณ พุทธสมาคม เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2483

การเชื่อมเข้าหากันของปราชญ์และมี “สนาม” อันเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการสอดบรรสานของภูมิปัญญาตะวันออกและภูมิปัญญาตะวันตกในปัจจุบัน และการวิวัฒนา การต่อไปข้างหน้าสะท้อนการมองการณ์ไกลของท่านพุทธทาสได้ดี

คัดจาก www.matichon.co.th
บทความพิเศษ โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์