ในด้านเศรษฐศาสตร์ การประยุกต์ใช้ทฤษฎีความโกลาหลมีมานานแล้ว และการประยุกต์ใช้ในปัจจุบันมักเป็นไปอย่างรัดกุมคล้ายกับด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ที่กล่าวว่า การประยุกต์ใช้ใน
ด้านนี้มีมานานแล้วนั้นสามารถดูได้จาก ผลงานของแมนเดลบรอท (Mandelbrot) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยสถาปนาศาสตร์แห่งความโกลาหลขึ้นในทศวรรษ 1960 แมนเดลบรอทนำเศรษฐศาสตร์มาผูกกับทฤษฎีความโกลาหล ด้วยการวิเคราะห์อนุกรมตามลำดับเวลาของราคาฝ้าย แล้วพบลักษณะความคล้ายกับตัวเองแบบแฟรกตัล นั้นก็คือลักษณะการเปลี่ยนแปลงราคาฝ้ายเมื่อมองในสเกลรายวันคล้ายกับเมื่อมองในสเกลรายเดือน ในปัจจุบันการวิจัยระบบเศรษฐกิจโดยอาศัยทฤษฎีความโกลาหลนี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์กำลังดำเนินไปอย่างแข็งขันโดยผลงานวิจัยที่รวมเล่มเป็นหนังสือก็กำลังทยอยพิมพ์ออกมา (โดยเฉพาะที่พิมพ์จาก MIT Press)ในด้านการเงิน วิวาทะเรื่องทฤษฎีความโกลาหลกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะแนวความคิดตามทฤษฎีความโกลาหลได้เพิ่มมุมมองใหม่อันท้าทายให้กับการวิวาทะว่าสมมติฐานเรื่อง “ตลาดมีประสิทธิภาพ” (efficient market) กล่าวโดยย่อ ตลาดการเงินที่มีประสิทธิภาพหมายถึง ตลาดที่ผลของสารสนเทศต่าง ๆ ได้สะท้อนออกมาในราคาของหลักทรัพย์ในตลาดอย่างหมดสิ้นและทันที จุดที่ก่อให้เกิดการวิวาทะก็คือ หากสมมติฐานนี้เป็นจริง ราคาหลักทรัพย์ในตลาดจะแกว่งขึ้นลงแบบสุ่ม (Random Walk) จึงป่วยการที่บรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและนักวิเคราะห์ปัจจัยเชิงเทคนิคจะพยายามทำนายราคาหลักทรัพย์ หรือแนะนำลูกค้าว่าควรซื้อหลักทรัพย์ใด เพราะผลที่ได้จะไม่มีอะไรดีกว่าให้ลิงจับฉลากเลือก เมื่อเราดูกราฟการขึ้นลงของราคาหลักทรัพย์ที่แสนจะดูเหมือนไร้แบบแผน สมมติฐานนี้ก็ดูเป็นเรื่องน่าเชื่อขึ้นมาการกำเนิดขึ้นของทฤษฎีความโกลาหลได้สร้างความหวังแก่ผู้ที่ไม่เชื่อว่า ตลาดมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะหากราคาฝ้ายมีลักษณะความคล้ายกับตัวเองแบบแฟรกตัลล (ซึ่งหมายถึงว่ามันเคลื่อนไหวภายใต้กฎเกณฑ์ที่ตายตัว) ได้แล้ว ทำไมราคาหลักทรัพย์หรืออัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราจึงจะมีลักษณะเช่นเดียวกันไม่ได้ และหากตลาดหลักทรัพย์เป็นระบบโกลาหลแล้ว แม้เราจะทำนายอนาคตระยะไกลของมันไม่ได้ เราก็ยังมีความหวังที่จะทำนายอนาคตระยะใกล้ของมันอย่างไม่คลาดเคลื่อนนัก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ทั้งฝ่ายที่เชื่อและไม่เชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์เป็นเหรือไม่เป็นระบบโกลาหลนั้น คงต้องสนุกกันต่อไปอีกนาน เพราะจนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีผลการวิจัยที่ตัดสินอะไรเด็ดขาดออกมาเลย แม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายว่ามันเป็นระบบแบบไม่เป็นเชิงเส้นก็ตาม

เอกสารอ้างอิงโดย : ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์